บรรดาคนดังในแวดวงต่างๆ ทั้งการเมือง บันเทิง และธุรกิจ ต่างเข้ามาใช้แอพพลิเคชันคลับเฮาส์สนทนาแลกเปลี่ยนกัน เนื่องจากเป็นการพูดคุยโดยไม่เห็นหน้าตา ทำให้มีความกล้าในการแสดงความเห็นมากขึ้น
หนึ่งในนั้น ก็มี นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ก็เข้ามาเล่นในแอพพลิเคชันนี้ด้วย ในหัวข้อ “SME Clinic ร่วมคิดฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ” โดยแนะว่า เมื่อสร้างธุรกิจแล้วประสบวิกฤติอย่างโควิด-19 ก่อนอื่นต้องศึกษาว่า ในธุรกิจที่มีอยู่นั้น สามารถต่อยอดหรือปรับให้เป็นสินค้าหรือบริการที่เป็นที่ต้องการได้อย่างไร แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนธุรกิจไปทำอย่างอื่นที่ไม่ถนัด เพราะเป็นการเริ่มต้นใหม่
ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเลี้ยงธุรกิจที่แม้จะประสบปัญหาเหล่านี้ ให้อยู่ได้ เช่นให้เงินกู้ ซึ่งไม่ใช่ให้แค่ 3ปี แต่ต้องนานเป็น 5 ปี เพราะเมื่อโควิดหายไปแล้วโอกาสต่างๆจะกลับมา เช่น ธุรกิจกระเป๋าเดินทางตอนนี้ ไม่มีคนเดินทาง แต่เชื่อว่าหลังจากนี้การเดินทางจะเกิดขึ้นอย่างมาก ชนิดที่เรียกว่ารับกันไม่ทันเลยทีเดียว
ส่วนด้านธุรกิจท่องเที่ยวหรือไกด์ยังน่าสนใจแต่ต้องเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ไม่ใช่แค่พาไปเที่ยวอย่างเดียว แต่ต้องมีความทันสมัย ส่วนตัวสนใจลงทุนธุรกิจไกด์กับทัวร์ ถ้าเป็นรัฐบาลคงจะเอาเงินเลี้ยงธุรกิจเหล่านี้ให้อยู่รอด อย่างรัฐบาลอังกฤษมีการจ่ายเงินเดือน ไม่ให้ไล่พนักงานออก เพราะประเทศเขามีความเข้าใจ ไม่เหมือนรัฐบาลไทย ต่อไปโควิดหายไปแล้วคนมาท่องเที่ยว มีการเตรียมความพร้อมผ่านการอบรม ต้องมีธุรกิจแบบนี้ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามด้านบุคลากรการจะทำให้เขามีกำลังใจต้องคิดว่า พนักงานของบริษัทเหมาะสมกับอะไร แล้วเป้าหมายของบริษัทคืออะไร ต้องหาคนแบบไหนที่เหมาะสมกับงาน ต้องให้อำนาจและโอกาสเขาลองผิดลองถูก ให้เขามีอำนาจตัดสินใจ ไม่ใช่มาเที่ยวถามคนล้าสมัยแล้วคุมอำนาจเขา ควรเป็นการชี้แนะแต่ไม่ชี้นำ ให้โอกาสเขาทำผิด ตัวเรามีหน้าที่สนับสนุน จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหากไปชี้นำเขา
นายธนินทร์ บอกว่ากลุ่มซีพี ได้ตั้งกองทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือ เป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและเป็นธุรกิจใหม่ เพราะธุรกิจแบบเดิมตัวหนักก็ให้คนเก่าๆทำไป ส่วนธุรกิจใหม่ต้องตัวเบาและให้คนรุ่นใหม่ทำ ซึ่งพบว่า ธุรกิจใหม่ยังขาดเงินซึ่งกองทุนนี้ก็ไม่ได้จะให้เงินเพียงอย่างเดียวจะต้องให้ความรู้ด้วย
“ก่อนจะเริ่มธุรกิจต้องหาข้อมูลว่า เราจะทำอะไรก็ตาม ตลาดจะทำอะไร มีคนเลือกทำหรือไม่ หรือไปต่อยอดได้หรือไม่ ขาดคนก็ไปเชิญคนเก่งๆจากทั่วโลกมาช่วย เพราะธุรกิจเทคโนโลยี จะไม่มี one man show แต่จะต้องเป็นเรื่องของการตลาดและเทคโนโลยีเป็นหลัก ขณะเดียวกันการทำงานต้องตั้งเป้าหมาย ซึ่งซีพีจะยึดหลักให้ลองผิดลองถูกให้อำนาจในการตัดสินใจ ไม่ใช่ไปห้ามเพราะคิดว่าจะต้องผิด แต่จะปล่อยให้ทำ ผิดวันนี้พรุ่งนี้แก้ไข แต่ถ้าผิดอีกแก้ไขไม่ได้อันนี้ก็ไม่ได้เหมือนกัน ต้องเป็นแค่การชี้แนะไม่ใช่ชี้นำ”
นายธนินทร์ ยังมีแนวคิดในการตั้งกองทุนใหม่เพื่อเข้าไปลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จแล้ว อย่างสำเร็จสัก 80-90% แล้วเราก็เข้าไปช่วยให้ขยายธุรกิจเพิ่มไปได้ด้วยเงินทุนของเรา
นั่นเป็นคมความคิดของนายธนินทร์ ที่ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ที่คิดจะประกอบธุรกิจจะได้เรียนรู้ และแรงบันดาลใจจากข้อคิดของนายธนินทร์