ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาส สัมภาษณ์พิเศษ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศอ.บต. จึงได้เห็นภาพรวมการ ขับเคลื่อนภารกิจซึ่งหากย้อนประวัติศาสตร์จริงๆ มีจุดกำเนิดจากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังเสด็จเยี่ยมในพื้นที่แล้วพบว่าประชาชนไม่สามารถสื่อสารกับฝ่ายราชการได้เนื่องจากติดขัดเรื่องภาษา
ภารกิจของ ศอ.บต. ผ่านยุคสมัยต่างๆจนมาถึงยุคของเลขาธิการฯ คนปัจจุบัน มีการดำเนินงานในหลายประการ และหลักในการทำงานก็พัฒนาเปลี่ยนแปลงเข้ากับยุคสมัยและความต้องการของประชาชนในพื้นที่
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ภารกิจในภาพรวมของ ศอ.บต. ได้รับความเชื่อ ศรัทธาจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการศึกษา ให้ได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดยเด็กและเยาวชนในพื้นที่นี้เมื่อจบการศึกษาระดับประถมศึกษาก็อยากจะไปศึก ษาต่างประเทศโดยเฉพาะด้านศาสนา ศอ.บต. ก็ได้ส่งเสริมโดยการขอทุนจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย หรือเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะอาจเป็นเรื่องมาตรฐานการศึกษาศอ.บต. ก็ได้จัดหาโควตาที่นั่งในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีทั้ง ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ทั้งเอกชนและรัฐ มีการจัดหาทุนการศึกษาให้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย ส่วนเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา ก็มีโครงการที่จะฝึกอาชีพให้รวมถึงให้ทุนประกอบอาชีพ ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นต้นแบบในการขยายผล
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ประเด็นซึ่งประชาชนศรัทธามากก็คือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบตามความเป็นจริงศอ.บต. ให้เงินรายละ 5 แสนบาท คนทุพพลภาพ นอกจากการให้ทุนแล้วก็ให้มีอาชีพมีที่ยืนในสังคม ตลอดจนให้ทุนการศึกษาแก่ลูกหลานครอบครัวได้รับผลกระทบ
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโดสุไหงปาดี ที่มีการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินของชาวบ้าน ตอนนี้ได้แก้ปัญหาร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจนสามารถออกโฉนดไปแล้วสองหมื่นถึงสามหมื่นแปลง
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เรื่องของศาสนาศอ.บต. อุดหนุนทั้งพุทธและอิสลามเต็มที่ เช่น การกำหนดค่าตอบแทนให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และเจ้าคณะจังหวัดของศาสนาพุทธ การส่งเสริมคนดีไปเมกกะ ซึ่งเลขาฯศอ.บต. เดินทางไปเยี่ยมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พี่น้องมุสลิมที่ไปชื่นชม ศอ.บต. ที่อำนวยความสะดวกในเรื่องนี้
"คนเหล่านี้เมื่อกลับมาเราจะเอาคุณค่าจากการไปฮัจญ์ เราก็จะให้เข้าชมรมฮัจญ์ของศอ.บต. เพื่อเผยแพร่ความดี ขยายผลต่อไปกับคนรุ่นลูกหลาน" นายศุภณัฐ กล่าว เลขาฯ ศอ.บต. กล่าวว่า การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การสร้างอาชีพ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นชอบสนับสนุนข้อเสนอของ ศอ.บต. และสภาพัฒน์ในการพัฒนาเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สุไหงโก-ลก-เบตง-หนองจิก เป็นเมืองต้นแบบในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่ในหลวง ร.9 ทรงให้ความสำคัญ
"ในหลวง ร.9 เคยเสด็จฯ อำเภอหนองจิกติดต่อถึง 3 ครั้ง ในหลวงตรัสว่า ที่นี้ดินดีให้เร่งส่งเสริมระบบชลประทานเพื่อส่งเสริมเกษตรก็มีการสร้างระบบชลประทานไว้ดีมาก แต่การผลิตยังไม่ดีขึ้น ในฐานะผมเป็นเลขานุการคณะกรรมการ พัฒนา 3 เมืองนี้ให้เป็นต้นแบบให้ได้ได้นำผู้บริหาร บริษัท อำพลฟูดส์ เจ้าของกะทิชาวเกาะมาดู บริษัทก็บอกเขาพร้อม ตั้งโรงงงานกะทิ เราก็ต้องส่งเสริมพื้นที่หนองจิกที่มีความพร้อมในการปลูก หรือโรงงานน้ำมันปาล์มที่สมุทรปราการก็พร้อมที่จะมาลงทุน และเพื่อเป็นการลดต้นทุนการขนส่งเราก็ได้อาศัยท่าเรือน้ำลึกที่ปัตตานี ผมติดต่อผู้ประกอบการจาก สิงคโปร์มาดูท่าเรือนี้แล้ว สิ่งเหล่านี้จะเกิดผลดีมหาศาลในพื้นที่ การแก้ปัญหาอย่างถาวรคือต้องทำให้ชาวบ้านมีที่ยืนที่อยู่ที่ทำกิน" นายศุภณัฐ กล่าว
นายศุภณัฐกล่าวว่า ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 12 ล้านคน เป็น พี่น้องมุสลิม 80 เปอร์เซ็นต ทั้งๆ ที่ยาเสพติดเป็นของต้องห้ามของทั้ง 2 ศาสนา แต่คนเสพก็เยอะมาก ศอ.บต. จึงเร่งความสำคัญในเรื่องนี้ มีการนำผู้เสพมาบำบัด เมื่อเลิกเสพก็พัฒนาเป็นอาสาบำบัด ฝึกอาชีพสนับสนุนงบประมาณสร้างอาชีพเพื่อให้ตั้งตัวได้ และให้เป็นบุคคลต้นแบบในการเลิกยาเสพติด
นายศุภณัฐกล่าวว่า โครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ งบประมาณรวม 50 ล้านบาท ศอ.บต. ถือว่า องค์กรภาคประชาสังคมเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นองค์กรที่มาจากภาคประชาชน รู้ปัญหาพื้นที่อย่างแท้จริง จะเป็นกำลังหลักในการเสริมบทบาท ของภาครัฐในการขับเคลื่อน เชื่อมโยงเรื่องความคิด ความเชื่อ ว่าพี่น้องที่นี่รักสันติสุขไม่ต้องการความรุนแรงและจะสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างผู้แทนรัฐบาลกับกลุ่มมาราปัตตานี
ความพยายามและการทำงานเหล่านี้รวมถึงภาคส่วนต่างๆ เป้าหมาย คือ เพื่อยุติวิกฤติไฟใต้