ทีมข่าวคิดลึก แม้ว่าในช่วงนี้ บรรดา "บิ๊ก" ทั้งในรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจต้องตอบคำถามวนเวียนซ้ำไปซ้ำมา ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลบหนีของ "ยิ่งลักษณ์ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี แต่อย่างใด และเชื่อว่าอีกไม่กี่อึดใจคำถามดังกล่าวนี้จะเริ่มซาลงไปโดยปริยาย จากนั้นจะเข้าสู่โหมดการเมืองที่ทุกฝ่ายต่างต้องเดินหน้าร่วมกันผลักดันโรดแมปของ คสช. จนไปสู่การเลือกตั้งรอบใหม่ อันเป็นหมุดหมายและความหวังของ "นักการเมือง" ทุกพรรค ภายใต้ความหวังที่ว่าพวกเขาจะได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ความเป็นปกติของการเมืองกันเสียที แต่ถึงกระนั้นดูเหมือนว่า การเลือกตั้งอาจไม่ใช่ "คำตอบ" สำหรับทุกคนและทุกพรรค โดยเฉพาะนักการเมืองที่กำลังหวั่นใจว่า แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ก็อาจเป็นช่วงเวลาแห่งรอยต่อทางการเมือง ที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และที่สำคัญไปกว่านั้น กระแสที่ว่า "นายกฯ คนที่ 30" ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่ชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกฯ และหัวหน้าคสช.นั่นเอง แม้หลายต่อหลายครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงก็ตาม เพราะไม่เคยคิดที่จะเล่นการเมือง หรือสืบทอดอำนาจก็ตาม แต่ยิ่งนานวัน กลับดูเหมือนว่า พื้นที่สำหรับ"นักการเมือง"ยิ่งมีแต่แคบลง ด้วยถูก "กระชับพื้นที่" โดย คสช. ทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่อาณาเขตทางอำนาจของคสช. เองกลับยิ่ง "ขยายวงกว้าง" จนทำให้นักเลือกตั้งแทบไม่เหลือความหวังใดๆ แม้แต่การเรียกร้องขอให้ คสช. "ปลดล็อก" เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเตรียมตัวจัดทัพเตรียมลงเลือกตั้ง ทว่าจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับไฟเขียวจาก คสช.แต่อย่างใด เมื่อเป็นฝ่ายกำหนดทุกเกมการเล่น จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้บรรดานักการเมืองยิ่งไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นจุดหมายปลายทางโรดแมปของคสช.จะมีขึ้นเมื่อใด หรือจนกว่าคะแนนนิยมของ คสช. จะมีความแข็งแกร่งมากพอ ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 4-5 ก.ย.นี้พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดการเดินทางไปร่วมประชุมบริคส์ที่ประเทศจีน จากนั้นในเดือน ต.ค.ได้วางโปรแกรมบินไปพบปะหารือกับ "โดนัลด์ ทรัมป์"ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นั่นหมาย ความว่านี่คือจังหวะในการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาจากเวทีต่างประเทศ โดยเฉพาะกับสองประเทศมหาอำนาจและที่น่าสนใจ ไปกว่านั้นในวาระการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ รอบนี้นั้นพล.อ.ประยุทธ์ อาจมีท่าทีที่ผ่อนคลายลงเมื่อไม่ต้องตอบคำถาม กรณีปัญหาการเมืองภายใน โดยเฉพาะเมื่ออดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เลือกทางหนีออกนอกประเทศ แทนการยืนต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม จนนาทีสุดท้าย เวลานี้แม้นักการเมืองบางฝ่ายยังเชื่อและประเมินว่า ที่สุดแล้ว "อิทธิพล" ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯและในฐานะเจ้าของพรรค จะยังคงยืนระยะต่อไป แม้จะต้องสูญเสีย 2 อดีตนายกฯ ในเครือชินวัตร ให้กับการเมืองไปแล้วก็ตาม แต่ทว่าย่อมปฏิเสธไม่ได้ถึงความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทย ว่าเวลานี้กำลัง "ระส่ำ"อยู่ไม่น้อย กลุ่มก๊วนภายในพรรคต่างกำลังมองหา"ทางเลือก"เพื่อประเมิน "ทางรอด"ให้กับอนาคตของพวกเขากันอย่างเคร่งเครียด เพราะวันนี้ปัญหาที่กำลังเผชิญกันอยู่ย่อมไม่ใช่เพียงภาวะของการไร้หัว หากแต่ท่อน้ำเลี้ยงยังชะงัก ไม่ลื่นไหล เหมือนที่เคยอีกต่อไป !