คนหนังสือพิมพ์มักจะได้ยินเรื่องราวการต่อสู้ในยุคที่ถูกจำกัดเสรีภาพ ตามต้นแบบของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังที่กล่าวกันในหลายแห่งมาแล้ว ผู้คนร่วมยุคสมัยก็อาจจะทวนความกันได้ หากแต่คนรุ่นหลังๆ หรือคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Gen Z อาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน หรืออาจได้ยินมาบ้าง แบบครึ่งกลางๆ ขาดๆเกินๆ กระนั้น ศิษย์ก้นกุฎิของ “อาจารย์หม่อม” อย่าง สมบัติ ภูกาญจน์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้ถ่ายทอดเอาไว้ในคอลัมน์ “ทางเสือผ่าน” เรื่อง โมเดลคึกฤทธิ์ กับการใช้สิทธิเสรีภาพสื่อฯ (6 ) ฉบับวันที่ 20 มิถุนายน 2560 บอกเล่าถึงการรับมือของพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่มีต่อมาตรการควบคุมสื่อ ภายหลังรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ประกาศกฎอัยการศึกสั่งให้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่จะวางจำหน่าย ต้องส่งมาให้คณะกรรมการตรวจ ก่อนวางตลาดทุกวัน “หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เสรีภาพอันมีขอบเขตจำกัดแล้ว ข้าพเจ้าจะงดการใช้เสรีภาพนั้นเสียชั่วคราวจะดีกว่า” พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แสดงความเห็นผ่านคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2494 ต่อมาในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันฉบับประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2494 จึงปรากฏข่าวหน้า 1 ด้วยข้อความนี้ “ต้นหมากหลังโรงพิมพ์สยามรัฐมี 13 ต้น ยืนอยู่ได้เพราะเอนอ่อนผ่อนตามลม ต้นมะขามมีหวังเป็นเขียงปีหน้าแน่” “ฝูงมดง่ามจะขึ้นไปคาบเด็ก 2 ขวบบนบ้าน” “ข้าราชการทุกคนที่ลาบวชปีนี้จะต้องโกนหัว” ซึ่งทุกข่าวล้วนมีข้อเขียนที่ตรงกับเรื่องราวที่พาดหัวเหมือนเช่นข่าวปกติที่เคยมีอยู่และมีมาในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกประการ “สมบัติ”ระบุว่า สิ่งเหล่านี้เป็นผลงานของการใช้เสรีภาพในการทำสื่อ ของคนทำสื่อชื่อคึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้สร้างไว้ในอดีต “สยามรัฐรายวันยุคเสรีภาพถูกจำกัดนี้เริ่มปรากฏตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2494 ท่ามกลางความแปลกใจของผู้อ่าน ที่ฉงนอยู่ในอารมณ์แรก และขบขันอยู่ในอารมณ์ถัดมาเมื่ออารมณ์เหล่านี้ไม่ได้ก่อผลลบให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และผลในทางตรงข้ามกลับกลายเป็นความสนใจติดตามซื้ออ่านของผู้คนมีมากขึ้น ขณะเดียวกับที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ไม่ใช่รูปธรรมยิ่งเพิ่มมีมากขึ้นๆ ภาวการณ์เหล่านี้ ดำเนินไปจนถึงวันที่ 7 กันยายน 2494 การกระทำเหล่านี้ ก็ยุติเมื่อมีประกาศพระบรมราชโองการเลิกใช้กฎอัยการศึก และรัฐบาลประกาศยุติการตรวจข่าวที่เคยทำมา” อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบัน ในรอบหลายปีที่ผ่านมา สื่อเผชิญความท้าทายจาก “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” และต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ขณะเดียวกัน ในรายงานปี 2563 ของสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงความท้าทายการทำหน้าที่ในความขัดแย้ง เมื่อสื่อถูกจับโยงไปเป็นคู่ขัดแย้ง กดดันให้เลือกระหว่างการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ถูกต้อง กับถูกใจ เราเห็นว่าความท้าทายดังกล่าว จะดำรงอยู่ในปีนี้อย่างหนักหน่วง ข้อเท็จจริง และความถูกต้อง มีเพียงหนึ่งเดียวที่ต้องรักษาไว้ บนหลักการใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบแล้ว สุขสันต์วันนักข่าว 5 มีนาคม