“เจ๊กตื่นไฟ ไทยตื่นข่าว ลาวตื่นผี”
สำนวนนี้น่าจะมีอายุอย่างน้อยสัก 100 – 200 ปีมาแล้ว ความนัยมันบ่งบอกสภาวะทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของชุมชนเหล่านั้นในอดีต ใช้เป็นประเด็นศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับสภาวะสังคมชาติพันธุ์ในสมัยอดีตได้ แต่ก็ไม่ควรจะเอาเขียนวิจารณ์เปรียบเทียบผู้คนสมัยปัจจุบัน เพราะจะมีอันตรายถูกเข้าใจผิดว่า หมิ่นแคลนเรื่องชาติพันธุ์กัน
จึงขอใช้เพียงคำว่า “ตื่นข่าว”
ซึ่งมีความหมายบางส่วนคล้ายกับสำนวน “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด”
ยกตัวอย่างขณะนี้ สื่อสารมวลชนและสื่อโซเชียลมีเดีย จะเต็มล้นด้วยเรื่องของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยไม่ไปฟังคำพิพากษา โดยทนายอ้างว่า จำเลยคืออดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ป่วย ศาลพิจารณาเลื่อนไปอ่านคำพิพากษาวันที่ 27 กันยายน และออกหมายจับอดีตนายกรัฐมนตรีคนนั้น
เรื่องราวตามมาก็จะเยอะแยะมากมาย บางส่วนก็เป็นเรื่องข้อมูลที่ควรรู้ แต่บางส่วนก็เป็นเรื่องเปรอะเลอะเทอะไม่สร้างสรรค์อะไร
ที่น่าคิดคือ ข่าวที่ด้อยค่าประโยชน์น้อย ข่าวว่าร้ายกัน ชวนให้เกิดอารมณ์เกลียดชัง อย่างที่ศัพท์เชิงวิชาการเขาเรียก Hated Speech กลับได้รับความสนใจมากกว่าข้อมูลที่เป็นความจริง
ราวกับว่า สังคมไทยกำลังติดละครน้ำเน่า ชิงรักหักสวาท หรือตามรักตามแค้นร้อยชาติภพ อะไรทำนองนั้น ปรากฏการณ์ทำนองนี้กระมังเป็นที่มาของสำนวน “ไทยตื่นข่าว”
แต่อย่างไรก็ตาม อาการ “ตื่น” นันก็เกิดขึ้นกับข่าวบางประเภทเท่านั้น
“ข่าว” บางเรื่องที่สังคมไทยควรตื่นตัวเผยแพร่กัน คนไทยมักไม่ค่อยสนใจ
เช่นข่าวน้ำท่วม ตอนนี้เกือบจะลืมกันแล้ว ในช่วงที่ไม่มีพายุมรสุมเข้าสู่ประเทศไทย ในหลายจังหวัดก็ยังมีภัยน้ำท่วม แม้จะยังไม่หนักหนาสาหัส แต่พื้นที่ซึ่งน้ำท่วมอยู่ขณะนี้ในหลายจังหวัด เมื่อมีพายุมรสุมนำฝนเข้ามาตกเพิ่มอีก พื้นที่เหล่านั้นจะประสบภัยยาวนานกว่าพื้นที่อื่น ๆ
เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง
พี่น้องไทยในพื้นที่ซึ่งไม่เดือดร้อนอุทกภัยโปรดนึกถึงพี่น้องไทยที่กำลังมีภัยน้ำท่วมด้วย
แม่น้ำน้อยท่วมอ่างทอง-อยุธยา แล้ว
ต้นสัปดาห์นี้พายุลูกใหม่ก็เข้ามาอีก น้ำท่วมเขตเมือง ก็ยังขนข้าวของหลบภัยได้ส่วนหนึ่ง แต่น้ำท่วมขังยาวนาน จะทำให้เกษตรกรรมเสียหายแบบ “ล่มจม”
มัน “จม” คือรายได้ที่เกษตรกรคาดหวังมันจมหายไปหมด
ความเดือดร้อนมันใกล้ตัวยิ่งกว่าปัญหาคนหาย หรือผู้ต้องหาหลบหนี
“เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” โปรดช่วยผู้ประสบภัยให้เต็มที่