เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phongphit
ข่าวเรื่องต้นตอโควิด-19 กับตลาดนัดจตุจักรได้แพร่ไปทั่วโลก มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทย ทั้งๆ ที่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของแพทย์ชาวเดนมาร์กที่ทำงานที่องค์การอนามัยโลก
ข่าวของสื่อเดนมาร์กก็บอกเพียงว่า “ตลาดค้าสัตว์ในกรุงเทพฯอาจเป็นสถานที่ที่นำไวรัสโควิด-19 มาสู่เมืองอู่ฮั่น และทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก” แต่เมื่อมีการส่งต่อกันทางสื่อน้อยสื่อใหญ่ก็มักถูกตัดคำว่า “อาจจะ” ออกไป กลายเป็น “ทฤษฎีสมคบคิด” ที่ไม่ต้องการหลักฐานอะไรอีก คือคนจำนวนมากเชื่อไปเลยว่า ที่มาของโควิด-19 คือตลาดนัดจตุจักรกรุงเทพฯ
ทั้งๆ ที่ข่าวก็บอกว่า แพทย์คนดังกล่าวได้ระบุว่า จากการตรวจสอบพบเชื้อ Sars-Cov-2 ในค้างคาวพันธุ์เกือกม้าจากประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งพบในค้างคาวของประเทศอื่น ๆ เช่นกัน แต่ไม่ได้พบเชื้อโควิด-19 ในค้างคาวประเทศไทย”
ความจริง เรื่องนี้มีสื่อต่างประเทศอย่าง เดอะซัน ของอังกฤษก็เคยออกมาตั้งข้อสงสัยในตลาดนัดจตุจักรมาแล้ว และเรียกตลาดนี้ว่า “ตลาดค้าสัตว์ป่าอู่ฮั่นแห่งที่สอง” แล้วยังรายงานว่าเป็นแหล่งลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายด้วย ที่ผ่านมามีการเรียกร้องหลายครั้งจากทั้งในประเทศและต่างประเทศถึงสวัสดิภาพสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ที่อาศัยในกรงขังอย่างแออัด
คงเป็นงานหนักในการแก้ข่าวดังกล่าว เพราะจริงไม่จริงก็สร้างผลกระทบให้ไทยแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ไวรัสตัวนี้มาจากสัตว์ป่าที่ค้าขายกันในตลาด มีทั้งตัวเป็นๆ และที่ชำแหละแล้วอย่างที่อู่ฮั่น ที่นายบิลล์ เกตส์ เคยทำนายไว้ตั้งแต่ปี 2015 ว่า จะเกิดโรคระบาดใหญ่ที่มาจากตลาดสัตว์ป่า
เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทย ที่ควรทบทวนเรื่องการค้าสัตว์ป่าอย่างจริงจัง เพราะการออกมาปฏิเสธของกระทรวงสาธารณสุขหรือของกรมอุทยานฯคงไม่พอ ที่ยืนยันว่า ค้างคาวในไทยตรวจหมดแล้วไม่มีเชื้อโควิด ควรมีมาตรการในการดูแลไม่ให้มีการลักลอบค้าสัตว์ป่าซึ่งยังทำกันทั่วไป
เพราะ 20 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นการระบาดของไวรัสโคโรนามาหลายครั้งแล้ว และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะเกิดอีกแน่นอน เพราะธรรมชาติขาดความสมดุล มีการนำสัตว์ป่าเข้าเมือง เข้าตลาดเพื่อการเลี้ยง เพื่อการบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ
คงไม่ต้องย้อนไปถึง 2504 ที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม จุดเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ที่รัฐส่งเสริมให้ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อจะได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพื่อการส่งออก จะได้เงินมาพัฒนาประเทศตามคำแนะนำของฝรั่ง จากวันนั้นถึงวันนี้ ป่าไม้ที่เคยมีกว่าร้อยละ 60 เหลือจริงๆ คงไม่ถึงร้อยละ 20 ถ้านับสวนยางและพืชเดี่ยวสีเขียว ดาวเทียมคงนับให้กลายเป็นร้อยละ 30 ก็เป็นได้
นั่นก็เป็นตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นแหล่งอาหารของคน แหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารของสัตว์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ นับพันนับหมื่นชนิด
เมื่อมีกฎหมายอุทยาน ป่าสงวน ก็จำกัดการตัดไม้ลงไปได้มาก คนก็เข้าไปหาของป่ามากินมาขาย ซึ่งแม้ผิดกฎหมายก็ไม่สามารถควบคุมได้ทุกแห่ง และชาวบ้านเองก็ไม่มีทางเลือกที่จะหาอาหารมากินมาขายเพื่อให้ได้เงินมาใช้บ้าง
วันนี้ตลาดท้องถิ่นในทุกจังหวัด โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้ธรรมชาติ แม่น้ำลำคลอง ทุ่งนาป่าเขา จะพบเห็น “อาหารจากป่า” มากมาย ไม่ได้มีแต่ไข่มดแดง แมงแคง จักจั่น อีลอก ดอกกระเจียว แต่มีเป็นร้อยๆ อย่างที่สื่อโซเซียล ยูทูบนำมาเผยแพร่ให้เห็นทุกวัน มากมายหลายเจ้าประจำ โดยเฉพาะทางอีสาน
ได้เห็นกุ้ง หอย ปู ปลาแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ผักป่าผักทุ่งสารพัดชนิด แมลงต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สื่อเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการขยายตลาด “ของป่า” ซึ่งหากินยาก ชาวบ้านเองก็หันมาหาของป่าเหล่านี้มาขายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้บริโภคก็มากขึ้น เห็นจากสื่อแล้วอยากกิน เพราะเคยกินนานแล้ว เมื่อก่อนเคยไปหาเอง ตอนนี้มีคนไปหามาขายในตลาด สะดวกดี ราคาก็ไม่แพง
ประสบการณ์ของ “อินแปง” เครือข่ายชาวบ้านบนภูพานเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ที่เมื่อถนนมาไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ทะลักตามมา ชาวบ้านซื้อผ่อน รายได้ไม่มีก็ไปเอาของป่ามาขาย จนไม่เหลือแม้แต่จะหามากินเอง ที่สุดต้องไปกู้เงินมาซื้ออยู่ซื้อกิน เป็นหนี้เป็นสินหนักเข้าไปอีก
เมื่อได้เรียนรู้ที่มาสาเหตุ ชาวบ้านจึงตัดสินใจเปลี่ยนการปลูกมันปลูกอ้อยมาปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก แทนที่จะไปเอาจากป่าก็ “ยกป่ามาไว้บ้าน ยกภูพานมาไว้สวน” คือเอามาปลูกเองเลี้ยงเอง เพื่อเป็นอาหาร ติดป้ายไว้ว่าที่บ้านว่า “ศูนย์โฮมแนวกิน” (ที่รวมอาหาร) ปล่อยให้ป่าเติบโต
ฟังดูอาจโรแมนติก และคงยากที่จะเกิดไปทั่ว แต่ถ้าเกิดได้ที่ “อินแปง” ที่ไม่ได้มีแต่ที่บ้านบัว สกลนคร แต่กระจายไปหลายจังหวัด ก็แสดงว่าเกิดได้ถ้ามีการส่งเสริมกันอย่างจริงจังและถูกวิธี
ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ไม่นานแม้จะยังเหลือป่า แต่ป่าคงผลิต “อาหาร” ไม่ทันกับความต้องการของคนที่ชอบ “ของป่า” การห้ามไปเอาของป่ามาขายคงทำได้อยาก เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุที่มี 2 อย่าง อย่างแรก คือ ปัญหาโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง โอกาสคนจนน้อย
อย่างที่สอง คือ จิตสำนึกของสังคม ทั้งชาวบ้าน ชุมชน สังคมโดยรวม โดยเฉพาะรัฐบาล ราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจ ที่คิดแต่เรื่องการเติบโตของจีดีพี โดยละเลยคุณภาพชีวิต คุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ขาดความสมดุล และบ่อเกิดของโรคระบาด ซึ่งจะมาอีกอย่างแน่นอน