สัปดาห์ก่อนมีข่าววัยรุ่นอายุ 13-15 ปี เกือบ 50 คน พร้อมอาวุธทั้ง ขวดแก้ว ท่อนไม้ เหล็กแหลม มีด ปืนและระเบิดปิงปอง ยกพวกก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน จนได้รับบาดเจ็บราวกับแดนเถื่อน ปัญหาวัยรุ่นยกพวกตีกันนี้ ดูเหมือนจะไม่หมดไปจากสังคมไทยง่ายๆ เพียงแต่จะปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่เท่านั้น แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆ ก็ตาม ทั้งนี้สาเหตุของความขัดแย้งและทะเลาะวิวาทกันของวัยรุ่นมาจากหลายสาเหตุ แต่มีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รวบรวมเอาไว้ว่า มาจาก 5 สาเหตุด้วยกัน 1. สาเหตุส่วนบุคคล เช่น การมีพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว ความโกรธบันดาลโทสะ คึกคะนอง ขาดความอดทน ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ 2. สาเหตุที่เกิดจากครอบครัว เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน ครอบครัวไม่อบอุ่น พ่อแม่แยกทางกัน ครอบครัวเข้มงวดหรือตามใจเกินไป 3. สาเหตุที่เกิดจากเพื่อน เช่น การถูกเพื่อนชักชวนให้กระทำผิด รักเพื่อนรักสถาบัน ต้องการช่วยเพื่อนเพราะคนในกลุ่มเพื่อนเคยถูกทำร้ายมาก่อนและต้องการแก้แค้น 4. สาเหตุที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น สถานบันเทิง บนท้องถนน หรือสถานที่จัดงานตามเทศกาลต่างๆ เป็นต้น และ 5. สาเหตุอื่นๆ เช่น การดื่มสุรา แอลกอฮอล์ หรือการใช้สารเสพติด การพูดจายั่วยุดูถูก การปะทะคารมกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับแนวทางการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งในส่วนของการทดสอบด้านจิตใจ กรมสุขภาพจิตในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งด้านการถ่ายทอดความรู้และทักษะที่ใช้สำหรับการประเมินสุขภาพจิตของนักเรียน ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทุกคน เพื่อที่จะทราบว่านักเรียนแต่ละคนมีสภาพจิตใจอยู่ในระดับใด และสามารถจัดกลุ่มนักเรียนให้ง่ายต่อการดูแลได้ ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มเด็กสุขภาพจิตปกติ และไม่ปกติ เช่น ชอบทำร้ายตัวเอง ชอบทำร้ายผู้อื่น เป็นต้น เมื่อมีการประเมินนักเรียนแล้ว กรมสุขภาพจิตก็จะให้ความรู้กับครูว่าสามารถเยียวยา ดูแลรักษาพัฒนากับเด็กแต่ละกลุ่มนี้อย่างไร และหากเด็กกลุ่มไหนที่มีสุขภาพจิตอยู่ในระดับที่เกินความสามารถของครูก็จะมีการประสานบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยการทำงานแบบบูรณาการกัน คือ สุขภาพทางกายโรงเรียนเป็นผู้ดูแลและสุขภาพจิตทางกรมสุขภาพจิตเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้สพฐ. และกรมสุขภาพจิตได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ร่วมกัน เมื่อสพฐ.ป้อนข้อมูลเด็กในการตอบคำถามต่างๆ จะสามารถประมวลผล ออกมาได้ทันทีว่าสุขภาพจิตของเด็กอยู่ในระดับไหน สามารถจะจัดกลุ่มดูแลเยียวยาเด็กได้อย่างตรงจุด โดยจะมีการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชนและโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง จังหวัดละ 1 แห่ง จะเริ่มในปีการศึกษา 2564 นี้ เราเห็นว่าเป็นอีกก้าวของการแก้ไขปัญหาในเชิงรุก ระดับสถานศึกษา เพื่อเข้าถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตต่างๆ ไม่เฉพาะปัญหาความรุนแรง แต่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีปัญหาความวิตกังวล ซึมเศร้า และแปลกแยก เกิดขึ้นจากการเว้นระยะห่างทางสังคม และปัญหาเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบสุขภาพจิตของวัยรุ่น จึงหวังว่าก้าวสำคัญนี้จะช่วยให้สุขภาพจิตวัยรุ่นดีขึ้น ทั้งนี้ควรส่งเสริมให้เข้าถึงในระดับอุดมศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับอนุบาล รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆทุกระดับในสังคม