ตั้งแต่พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนประกาศเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2548 จนถึงวันนี้มีวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศประมาณ 80,000 กลุ่ม คนส่วนใหญ่ไม่ทราบที่มา จึงอาจจะมองที่ไปไม่ถูก หรือสับสน จนทำให้ของดีที่มีอยู่กลายเป็นอะไรที่ไม่มีคุณค่าอย่างที่ควร
แรกๆ ผู้ประกาศข่าวทางทีวีวิทยุยังพูดว่า “รัฐวิสาหกิจชุมชน” อยู่นาน กว่าจะคุ้นเคย แต่ก็ไม่แปลก เพราะคนทั่วไปคิดว่าพรบ.นี้ก็คงมาจากหน่วยงานรัฐ ที่คิดขึ้นมาเพื่อเอื้อการทำงานของตนเหมือนกฎหมายร้อยละ 99 (อย่างที่ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณบอก)
พรบ.นี้คงเป็นหนึ่งในร้อยที่ไม่ได้มาจาก “ราชการ” แต่มาจาก “ราษฎร” แต่ที่สุดในทางปฏิบัติ ก็กลายเป็น “รัฐวิสาหกิจชุมชน” คืออยู่ในอาณัติของหน่วยงานราชการ มีชะตากรรมเดียวกันกับสหกรณ์ คือกลายเป็น “บอนไซสยาม” ไปอีกราย
ในเมื่อผู้อยู่เบื้องหลังของการก่อเกิดพรบ.นี้คือ มูลนิธิหมู่บ้านและเครือข่ายผู้นำชุมชนทั่วประเทศ ก็ขอย้อนกลับไปเล่าเรื่องมูลนิธินี้ที่เปิดเมื่อปี 2531 ทำงานพัฒนาชุมชนด้วยแนวคิดการสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน และทุนชุมชน
แทนที่จะใช้เงินและทำโครงการพัฒนาเหมือนที่ทำๆ กัน มูลนิธิหมู่บ้านได้ลงไปศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ค้นหาปราชญ์ชาวบ้านทั่วแผ่นดิน และประสานให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ แทนที่จะไปพัฒนาชาวบ้านก็ไปเรียนรู้จากพวกเขาว่า คนที่เคยมีปัญหาเขาแก้ได้อย่างไร ชุมชนที่เข้มแข็ง เข้มแข็งเพราะอะไร และนำบทเรียนนั้นมาสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ และเผยแพร่ทางสื่อและเครือข่ายผู้นำชุมชน
การทำข้อมูลชุมชนทำให้ได้พบสิ่งที่เราเรียกตอนนั้นว่า “ธุรกิจชุมชน” กับ “อุตสาหกรรมชุมชน” คือการรวมกลุ่มของชาวบ้านทำการประกอบการเล็กๆ ในหมู่บ้านหรือระหว่างหมู่บ้าน ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งที่ชาวบ้านทำเอง และนายทุนเข้าไปทำในหมู่บ้าน อย่างการทำหมอนขิดสามเหลี่ยมที่ป่าติ้ว ยโสธร ที่นายทุนทำให้หมู่บ้านหลายแห่งเป็น “คลัสเตอร์” โรงงานผลิตหมอน หมู่บ้านนี้เย็บ หมู่บ้านนั้นยัด หมู่บ้านโน้นตรวจสอบ จัดทำหีบห่อ แล้วมีรถสิบล้อไปรับ นำไปจำหน่ายทั่วประเทศ
เราได้เห็นศักยภาพของการทำ “ธุรกิจชุมชน” ที่ผลิตในท้องถิ่นนำไปเร่ขายตามงานวัด ตลาดนัด หรือมีนายทุนบรรทุกไปกรุงเทพฯ ทั้งชาวบ้านคนขายและผลิตภัณฑ์จากชุมชน เสื่อ หมอน ผ้าไหม เขียง ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ กลางคืนไปนอนตามวัด ขายหมด รถสิบล้อก็นำกลับไปหมู่บ้าน
ประมาณปี 2537 มูลนิหมู่บ้านได้นำกลุ่มผู้นำชุมชนภาคใต้ไปศึกษาดูงานเรื่องการทำแป้งขนมจีนที่ศรีสะเกษ ที่แปดริ้วและที่กรุงเทพฯ เพราะอยากทำ “ธุรกิจ” อะไรสักอย่างเพื่อเป็นรายได้ชดเชยที่ผู้นำต้องไปประชุมทั้งที่รัฐทั้งเอกชนเขิญไป จนไม่มีเวลาทำมาหากิน ครอบครัวขาดรายได้
คนใต้กินขนมจีนมาก แต่ไม่มีที่ไหนผลิตแป้งขนมจีน ผู้นำไปสำรวจความต้องการพบว่า ถ้ามีคนทำออกไปขาย ราคาไม่แพง และรสชาติดีคนทำขนมจีนก็จะซื้อ จึงเป็นที่มาของการไปเรียนรู้และเตรียมการทำโรงงานแป้งขนมจีน ซึ่งใช้เวลาเป็นปีเพื่อระดมทุน และลงมือทำที่พรหมคีรี นครศรีธรรมราช ทำสำเร็จ สามารถจ่ายเงินปันผลถึงร้อยและ 24 ในปีวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังปันผลประมาณร้อยละ 20 ตลอดมา ส่งแป้งขนมจีนไปขายทั่วภาคใต้มาจนถึงกทม.วันหนึ่งหลายสิบตัน
นี่คือที่มาของชื่อ “วิสาหกิจชุมชน” ผู้นำชุมชนและมูลนิธิหมู่บ้านช่วยกันคิดว่า จะทำโรงงานแป้งขนมจีนโดยจดทะเบียนเป็นอะไรดี จดเป็นสหกรณ์ก็มีปัญหา เป็นบริษัทก็อาจยุ่งยาก เพราะชาวบ้านไม่มีประสบการณ์เลย ที่สุด วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียแล้วก็จดเป็นบริษัท แม้รู้สึกว่าไม่ใช่ จึงมีการคิดกันว่า น่าจะมีทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่สหกรณ์และไม่ใช่บริษัท จึงมีคนเสนอคำว่า “วิสาหกิจชุมชน”
นั่นคือที่มาของการเริ่มพูดคุยกันและหาทางเสนอพรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โดยระดมความคิดเห็นของผู้นำในเครือข่ายจากทั่วประเทศ เสนอรัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 เข้าที่ประชุมครม.สัญจรครั้งแรกที่เชียงใหม่ ผ่านแบบไม่มีใครโต้แย้ง เพราะนายกฯ เสนอเอง ตอบเอง และสั่งให้ส่งกฤษฎีกาและเสนอสภาฯ ตามกระบวนการต่อไป
ผมได้ไปที่กฤษฎีกากับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม และลุงประยงค์ รณรงค์ เพื่อชี้แจง เลขาธิการในขณะนั้นถามผมว่า ประเทศอื่นเขามีกฎหมายนี้ไหม ผมตอบว่า “ไม่มีครับ” เขาถามเสียดังหน้าแดงว่า “แล้วทำไมบ้านเราต้องมีด้วย” ผมก็สวนไปว่า “ถ้าประเทศอื่นไม่มี บ้านเรามีไม่ได้หรือครับ”
ผมบอกว่า ประเทศอื่นเขามีกฎหมายสหกรณ์ที่พัฒนาและครอบคลุมไปหมดจนกระทั่งไม่ต้องมีกฎหมายอะไรแบบนี้อีก (ผมพาผู้นำชุมชนไปดูงานที่ฝรั่งเศส เยอรมัน ที่โน่นเขาบอกข้อมูลเราหมด) แต่กฎหมายสหกรณ์ของเราที่มีมาเกือบร้อยปียังไม่มีประสิทธิภาพ เหมือนมีแต่รถบัสวิ่งในเมือง ระหว่างเมือง ช้าและไม่สะดวก จึงมีรถตู้เกิดขึ้น รับผู้โดยสาร 10 คน วิ่งไปถึงหมู่บ้านได้ทั่วประเทศ คล่องตัวกว่ามาก
ใช้เวลา 4 ปี เมื่อพรบ.นี้ผ่านสภาออกมา เราแทบ “จำหน้าไม่ได้” เพราะสิ่งที่ได้เสนอไปถูกตัดไปเกือบหมด ไม่ว่าการเป็นนิติบุคคล การมีกองทุน การมีหน่วยงานวิจัย ซึ่งเราได้ศึกษาจากหลายประเทศพบว่า “SME” เขามีสิ่งเหล่านี้ วิสาหกิจชุมชนก็คือการประกอบการขนาดเล็กขนาดจิ๋วของชุมชน ควรมีการสนับสนุน แต่กลไกใน “สภา” บอกว่า สหกรณ์ก็มีแล้ว ธนาคารก็มีทุนแล้ว มหาวิทยาลัยก็วิจัยได้
วันนี้ เราจึงมีวิสาหกิจชุมชน 80,000 กลุ่มที่ไม่เป็นนิติบุคคล แค่ไป “ลงทะเบียน” เพื่อ “รอรับงบและความช่วยเหลือจากรัฐ” ไม่ได้มีกองทุน ไม่ได้มีงบประมาณวิจัยเพื่อสร้างเสริมสติปัญญาอะไรเลย
แทนที่จะเป็นไม้ใหญ่ให้ดอกให้ผล พึ่งตนได้ ก็เป็นเพียงบอนไซที่ต้องอาศัยคนรดน้ำดูแลเท่านั้น
เสรี พงศ์พิศ - www.phongphit.com