ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ควันหลงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจทำให้รัฐบาลตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อกู้วิกฤติศรัทธาต่อประชาชน เพราะฝ่ายค้านชำแหละผลงานที่ไม่เข้าตาประชาชนอย่างหมดเปลือก นัยว่าจะยื่นถอดถอนรัฐมนตรีได้อีก ความจริงจุดมุ่งหมายของฝ่ายค้านก่อนอภิปรายมุ่งหวังว่านายกรัฐมนตรีต้องลาออก หรือปรับปรุง ครม.ใหม่ หรือปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้น แต่เมื่อไม่ได้ตังใจสักอย่างคงต้องยื่นถอดถอนกับ ปชช.ต่อไป ย้อนกลับมาดูคะแนนการอภิปรายไม่ไว้วารงใจที่ ส.ส.ได้ชูมือแสดงความเห็นแล้ว จะเห็นว่าคะแนนมาตรฐานของรัฐบาลที่ควรจะได้คือ 272 คะแนนที่ไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ยกเว้นประธานและรองรัฐสภาอีกรวม 3 คนที่งดออกเสียง ซึ่งมีเพียงนายกรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์ และนายนิพนธ์ เพียง 3 ท่าน เท่านั้นที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ลูกพรรคได้พร้อมใจกันทำตามสัญญามารยาททางการเมืองที่ยกมือให้ ขณะเดียวกันในส่วนที่เกินมาตรฐาน 272 เสียง ได้แก่นายอนุทิน 275 พลเอกประวิตร 274 เสียง และ ร.อ.ธรรมนัส 274 เสียง แสดงว่าฝ่ายค้านยกมือไว้วางใจเพิ่มมาอีก 2-3 เสียง ส่วนคะแนนที่ได้ต่ำกว่ามาตรฐานมีถึง 4 คนด้วยกัน ได้แก่ นายจุรินทร์ 268 นายศักดิ์สยาม 268 นายสุชาติ 263 และนายณัฐพล 258 คะแนนซึ่งต่ำสุด แสดงว่าฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วมงดออกเสียงหรือไม่ยกมือให้มีมากกว่า 1 คน หมายถึงฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการชี้แจง ไม่เคลียร์ในหลายประเด็น แต่ถึงอย่างไรคะแนนที่ได้มากกว่ากึ่งหนึ่ง 244 คะแนนยังไม่มี เท่ากับว่าผ่านการอภิปรายไม้ไว้วางใจทั้งหมด เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีถึงกับออกมาพูดว่าใครได้คะแนนมากกว่าตัวเองน่าจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และได้นำเสียงที่ได้กลับไปทำการบ้านต่อ เช่น การทุจริต จริยธรรมทางการเมือง และการปฏิบัติราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ขณะเดียวกันฝ่ายค้านออกมาโต้หลังการอภิปรายว่าได้เตรียมเอกสารยื่น ปปช.และศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ในมุมของการทุจริตและจริยธรรมทางการเมืองในการแต่งตั้งพรรคพวกของตนเองเข้ามาหาผลประโยชน์ ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีและรมต.อีก 5-6 คน ได้แก่ พลเอกอนุพงษ์ พลเอกประวิตร นายจุรินทร์ นายศักดิ์สยาม นายนิพนธ์ นายสุชาติ และนายณัฐพล ในเดือน มี.ค.นี้ พร้อมๆกับ 3 รมต.ตกเก้าอี้จากกรณี กปปส. เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายค้านต้องการออกมาเปิดปมข้อสงสัยให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ซึ่งส.ส.ที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างเป็นตัวแทนของประชาชน ควรมีเอกสิทธิในการแสดงจุดยืนของตนเองมากกว่ามารยาททางการเมือง ที่ต้องถูกข้อบังคับของพรรคมากดดัน ต้องยกมือให้ฝ่ายรัฐบาลชนะตลอดไป แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ ส.ส.มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ตาม ความจริงการที่ส.ส.มีอิสระในการเลือกว่าผู้ใดตอบข้อสงสัยของฝ่ายค้านให้ชัดเจน ควรยกมือให้แต่ผู้ที่ชี้แจงไม่เข้าประเด็นหรือไม่ได้ชี้แจงเลยควรที่จะไม่ยกมือให้ ถ้าหากขาดอิสระเพราะถูกข้อบังคับของพรรคแทรกแซงเสียแล้ว คงต้องจำใจยกมือให้ ถือว่ามิใช่ตัวแทนของประชาชนเป็นการเมืองที่ไม่พัฒนา เรากำลังเรียกหาความเป็นประชาธิปไตยและอิสรภาพในการแสดงจุดยืน หากส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนขาดอิสระเช่นนี้ ความจริงก็จะถูกกลบเกลื่อนจากมือที่มากกว่า ประชาธิปไตยจะเกิดได้อย่างไร ผมขอสนับสนุนให้ ส.ส.ทุกคนมีอิสระและเอกสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจมากกว่าที่จะรักษามารยาททางการเมือง