ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแทบทุกระดับ ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ระบุว่าหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3 ปี 2563 มีมูลค่าสูงถึง 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.9% ใกล้เคียงกับ 3.8% ในไตรมาสก่อน
และท่ามกลางปัญหาหนี้สินต่างๆนี้ ก็กลายเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพคิดหาประโยชน์ จากข่าวที่มีประชาชนออกมาเปิดเผยพฤติกรรมของไลฟ์โค้ชรายหนึ่ง ที่ออกมาเปิดเพจโครงการปลดหนี้บัตรเครดิต อาสาเคลียร์หนี้ให้โดยจ่ายเงินแค่ร้อยละ 70 จะสามารถปิดหนี้ได้ทั้งหมด 100% และมีเงินปันผลให้สำหรับผู้ที่สมัครสมาชิกด้วย จนมีเหยื่อหลงเชื่อหลายร้อยคนทั่วประเทศเข้าแจ้งความ เนื่องจากไม่สามารถปลดหนี้ได้ และยังไม่ได้รับเงินคืนอีกด้วย
ไม่ว่าจะแรงจูงใจหรืออะไรก็ตามที่ทำให้ประชาชนหลงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากเงื่อนไขในการปลดหนี้นั้น น่าสนใจ ที่สามารถจ่ายเพียง 70 % ก็สามารถปิดหนี้ได้ทั้งหมด แต่สุดท้ายก็ต้องสูญเงินเปล่า ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชน ซึ่งหากที่สุดเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้ควรได้รับบทลงโทษสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ช่องทางในการปลดหนี้กับภาครัฐ ที่เชื่อถือได้นั้นมีอยู่ โดยที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท. ออกมาตรการต่างๆมาเพื่อช่วยลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ผ่านการทำมาตรการขั้นต่ำ มาตรการเฉพาะกลุ่ม หรือช่องทางในการช่วยลูกหนี้เร่งด่วน ผ่านคลินิกแก้หนี้
อีกทั้งยังร่วมกับ สำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม และผู้ให้บริการบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินทั้ง 21 แห่ง โดยแบ่งเป็นสถาบันการเงิน 10 แห่ง และ นอนแบงก์อีก 11 แห่ง จัดงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” เพื่อให้ลูกหนี้และสถาบันการเงินหาข้อยุติและเป็นทางเลือกในการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้น ผ่านเงื่อนไขการผ่อนปรนต่างๆที่ทำได้จริง ทำให้ลูกหนี้มีโอกาสกลับมาชำระหยี้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการป้องร้องบังคับคดีในอนาคต โดยเปิดให้ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ-14 เมษายน2564
โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ที่เข้าข่ายเข้าร่วมโครงการ 2 ประการคือ 1.เป็นหนี้ NPL ทั้งยังไม่ถูกฟ้อง และอยู่ระหว่างฟ้องร้อง 2.เป็นหนี้ NPL ที่มีคำพิพากษารวมถึงกลุ่มที่บังคับคดีแล้ว ฉะนั้น ประชาชนยังมีโอกาสที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ พบว่าข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนผู้ลงทะเบียน ยอดสะสมอยู่ที่จำนวน 148,106 คน คิดเป็น 314,405 รายการ
อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า มาตรการนี้ จะเป็นแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนได้สำเร็จ คู่ขนานไปกับมาตรการอื่นๆ
ที่สำคัญ โมเดลในการแก้ไขปัญหาหนี้สินนี้ ควรดำเนินการไปตลอด ไม่เฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เท่านั้น หากแต่ควรหารูปแบบเพื่อดำเนินการต่อไปในระยะยาว โดยกำหนดรูปแบบในการผ่อนปรนที่สามารถยอมรับได้ทุกฝ่าย ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ และฝึกทักษะการมีวินัยทางเงิน เชื่อว่าโอกาสที่คนไทยจะปลดหนี้ได้คงไม่ไกล