กลยุทธ์ปรับภาพลักษณ์พรรคเพื่อไทย ให้กลับมาโดดเด่นด้านเศรษฐกิจเช่นเดียวกับรัฐบาลอดีตพรรคไทยรักไทย ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาถือธงนำเกมรุกผ่านโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในแอพพลิเคชั่น “คลับเฮาส์” นั้นส่งผลกระทบต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง ด้วยการหยิบยกผลงานในอดีตขึ้นมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในบางช่วงบางตอนของการพูดคุยในคลับเฮาส์ ที่เขาใช้นามแฝงว่า “Tony Woodsame” ยังคงผลักผลักดันแนวคิดถึงคนรุ่นใหม่ว่าหากอยากได้การเมืองที่ดีต้องผลักดันให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หากกติกาดีก็อยู่สบายเช่นในสมัยที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่กติกาการเมืองหรือกติกาการปกครอง แต่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ ถ้าไม่มี Trust and Confidence ก็จะไม่มีใครมาลงทุนในไทย ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่พยายามสื่อสารผ่านกิจกรรม CARE TALK ในหัวข้อ “คนไทยไร้จน:ฝันเฟื่องหรือเรื่องจริง” ที่นายทักษิณชี้ว่า รัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ เศรษฐกิจช่วงนั้นจะดีเท่านั้น รัฐธรรมนูญที่ประชาธิปไตยแย่เท่าไหร่ เศรษฐกิจมันจะแย่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การรุกทางการเมืองของนายทักษิณ เกิดขึ้นในจังหวะที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญในวาระ 2 ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐสภามีมติส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แนวคิดของนายทักษิณ ได้รับการโต้แย้งจาก นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขามองว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นต้องแก้ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำด้วยแนวคิด “สังคมสวัสดิการ” “ต่อให้ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเขียนใหม่อีก 100 ฉบับ แล้วนำรัฐธรรมนูญไปต้ม ดื่มกินน้ำต้มรัฐธรรมนูญ 3 เวลาหลังอาหาร ท่านก็ยังจน แต่ขณะเดียวกัน คนรวยอีก 10 ตระกูลของเมืองไทย เขาไม่สนหรอกว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เขาก็ยังรวยวัน รวยคืน อยู่เหมือนเดิม ต่อให้เขานอนหลับไปแล้วตื่นขึ้นมาเขาก็ยังรวยขึ้นเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจมันเอื้อให้เขารวยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” หันมาดูในส่วนของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้มีความเคลื่อนไหวในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจน โดยนายกรัฐมนตรี มอบให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) มีกลไกเชิงปฏิบัติ 3 ระดับ ได้แก่ 1.กลไกอำนวยการระดับจังหวัด 2.กลไกอำนวยการปฏิบัติการระดับอำเภอ 3.กลไกระดับปฏิบัติการ ระดับท้องถิ่น ขับเคลื่อน 4 แนวทาง กระนั้น แม้พล.อ.ประยุทธ์จะอ้างว่าไม่มีเวลาเล่นคลับเฮาส์ก็ไม่ใช่สารัตถะ หากรัฐบาลสามารถพิสูจน์ได้ว่า สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเร่งด่วน และยั่งยืน