ที่ผ่านมามีการจับตาการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม และมีคำพูดที่ว่าเศรษฐกิจเวียดนามกำลังจะแซงไทย โดยมีบรรดานักวิเคราะห์ ต่างประมาณการณ์ตัวเลขว่า เวียดนามอาจแซงไทยได้ใน 15 ปี หรือเร็วกว่านั้นเพียง 8 ปี ขณะที่บทวิเคราะห์ของ “ลงทุนแมน” มองว่า เวียดนามอาจต้องใช้ 20 ปี จาก 24 ปีหรืออาจใช้เวลาน้อยกว่านั้น ถ้าเศรษฐกิจไทยอยู่กับที่ โดยระบุข้อมูล เศรษฐกิจของเวียดนามมีอัตราการเติบโตมากกว่าไทยถึง 2 เท่า ในช่วงปี 2552-2562 เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเฉลี่ยปีละ 6 % ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 3 % เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเวียดนามถึง 2 เท่าและรายได้ประชากร อย่างไรก็ตาม EIC ได้จัดทำบทวิเคราะห์ ระบุว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวลง แต่เวียดนามจะฟื้นตัวได้เร็ว และต่อเนื่องจากภาคการส่งออกที่เข้มแข็ง โดย EIC คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และจะเติบโตราว 7.0% ในปี 2564 จาก 2.9% ในปี 2563 ด้วยแรงส่งจากการส่งออกที่ไปได้ดีและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยนั้น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะหดตัว 6.1 % และขยายตัวได้ที่ 2.5% ขณะที่ต้องจับตาปัจจัยในการฟื้นตัวเศรษฐกิจ 9 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การควบคุมการแพร่ ระบาดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศเพื่อให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 2.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ 3.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะ ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องรวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังประสบปัญหาสภาพคล่องและภาระหนี้สินเพิ่มเติม 4.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564 ให้ไม่ต่ำกว่า 93.5% การเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีให้ไม่น้อยกว่า 85% การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่น้อยกว่า 70% และใช้จ่ายเงินกู้ตามพ.ร.ก.1 ล้านล้านบาทให้ได้ไม่น้อยกว่า 80% ภายในปีงบประมาณ 2564 5.การขับเคลื่อนการส่งออก สินค้าเพื่อสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ 6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 7.การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.การเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและการดูแลรายได้เกษตรกร 9.การติดตามและเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก อย่างไรก็ดี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรให้บริหารประเทศต่อไป และประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็เป็นประเด็นที่ท้าทายและส่งผลกระทบทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ นอกจากจับตาโจทย์ใหญ่ 9 ข้อที่ สศช.ส่งการบ้านให้แล้ว การเมืองระหว่างประเทศ ท่ามกลางสงครามระหว่างมหาอำนาจที่กำลังปะทุอยู่ในขณะนี้ จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะเป็นสมการแปรผัน ว่าจะซ้ำเติมให้ทรุดลงหรือหนุนส่งให้พุ่งทะยานจนเวียดนามเร่งเครื่องอย่างไรก็แซงไม่ทัน