รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
วันนี้! จะมาไล่เลียงมาตรการเยียวยาโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับผลกระทบ รัฐบาลเข็นมาตรการออกมาเพียบแบบเร่งด่วน หลากหลาย มีทั้งที่โดนใจเต็ม ๆ เฉียดบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง
ลองมาดูโครงการต่าง ๆ กันในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น
คนละครึ่ง : ขยายสิทธิเพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ ประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านจะได้รับสิทธิเงินร่วมจ่ายจากรัฐร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. – 31 มี.ค. 2564
เราชนะ : จ่ายเงินเยียวยารายละ 3,500 บาท จำนวน 2 เดือน ผ่านแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง”
เราเที่ยวด้วยกัน : ให้ผู้ใช้สิทธิ์ที่จองที่พักตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ. 64 เลื่อนการเดินทางออกไปได้ถึงเดือน เม.ย. 64
เราไม่ทิ้งกัน : ช่วยเหลือ ค่าอินเตอร์เน็ต เพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้าน และโทรศัพท์มือถือ ในการสนับสนุนการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home รวมทั้ง สนับสนุนการโหลดแอพพลิเคชันหมอชนะฟรีโดยไม่คิดค่าดาต้าเป็นระยะเวลา 3 เดือน
เรารักกัน : ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รับสิทธิ์ 4,000 บาท ต้องมีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่ได้รับสิทธิ์โครงการ "เราชนะ" ไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563
ลดค่าน้ำ : 10% 2 เดือน (กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564) สงวนไว้เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ
ลดค่าไฟฟ้า : 2 เดือน (กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564) โดยให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก สำหรับบ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น สำหรับบ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะเป็นการให้ส่วนลดค่าไฟตามเงื่อนไข ทั้งนี้ไม่รวมส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ
ประกันสังคม : จ่ายเงินกรณีว่างงานจากผลกระทบโควิด-19 ถูกเลิกจ้าง ได้เงินชดเชย 70% ของค่าจ้าง ลาออกได้เงินชดเชย 45% ของค่าจ้าง ลดหย่อนเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน เหลือ 3% ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 64
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยธนาคารต่าง ๆ ที่ออกมาตรการมาช่วยเหลือประชาชน การขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% อีก 1 ปี และยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0.01% มาตรการแบงก์รัฐเติมสภาพคล่อง 2.68 แสนล้านบาท เป็นต้น
จากมาตรการต่าง ๆ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งดีไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีกระบวนการขั้นตอน ที่ซับซ้อน เปิดช่องให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จนถึงการทุจริตคอร์รัปชัน กระแสต่าง ๆ เหล่านี้ไม่น่าจะมองข้าม เพราะเป็นการปลูกฝังให้เกิดวัฒนธรรมแบมือรับตลอด แต่เมื่อมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ก็ทำให้เกิดการหมุนของเงินในตลาด ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
แต่ก็มีคนไม่ใช่น้อยที่มองว่าเงินเหล่านี้ก็คือ “ภาษี” ของประชาชน เสียโดยประชาชนก็น่าจะคืนให้กับประชาชน ดีกว่าให้นักการเมืองไปทำปู้ยี้ปู้ยำ
ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์มากมายจนกลายเป็นเรื่องที่ต้องมีการสำรวจ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อมาตรการเยียวยาโควิด-19 ระลอกใหม่ของรัฐบาล โดยมีประเด็นคำถามต่าง ๆ ดังนี้ สถานะการเข้าร่วมโครงการ/มาตรการต่าง ๆ ของประชาชน ความพึงพอใจต่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ จุดเด่น-จุดด้อยของมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐบาลจัดขึ้น สิ่งที่อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงในการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน และภาพรวมความพึงพอใจต่อโครงการ/มาตรการช่วยเหลือเยียวในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่นี้
ถ้ามองเผิน ๆ ....ดูเหมือนว่ามาตรการช่วยเยียวยาโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ รัฐบาลระดมโครงการแจกแบบ “ทุ่มไม่อั้น” แต่จะถูกใจ “คนไทย” มากน้อยเพียงใด?
รอฟังคำตอบเช้าวันอาทิตย์นะครับ รับรองถึง “บางอ้อ” แน่นอน!