ทวี สุรฤทธิกุล ประเทศไทยว่างพระมหากษัตริย์เกือบ 5 ปี ภายหลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ 2 มีนาคม 2477 รัฐบาลมีปัญหาในการสถาปนาพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่อยู่พอควร ปัญหาแรกสุดของรัฐบาลก็คือการชี้แจงถึงสาเหตุของการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 โดยรัฐบาลได้รวบรวมเอกสารจำนวนหนึ่งจัดทำเป็นหนังสือราชการชื่อ “แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯทรงสละราชสมบัติ” ในจำนวนพิมพ์นับแสนเล่ม ซึ่งเป็นจำนวนหนังสือราชการที่พิมพ์ออกมามากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีสาระสำคัญโดยสรุป “ใส่ความ” พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ว่า “ทรงต่อรองที่จะขอคืนอำนาจจากรัฐบาล” อันแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลซึ่งก็คือคณะราษฎรนั้น “เกรงกลัวพระบารมี” เป็นอย่างยิ่ง เพราะกระแสสังคมในช่วงเวลานั้นมองไปว่าคณะราษฎรนั่นเองแหละที่เป็นผู้บีบบังคับให้พระเจ้าอยู่หัวต้องสละราชสมบัติ ปัญหาต่อมาคือการ “ค้นหา” ผู้สืบราชสมบัติ เนื่องจากรัชกาลที่ 7 ไม่มีรัชทายาท จึงต้องอาศัยกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ที่มีพระบรมราชวินิจฉัยแก้ไขมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 6 ซึ่งรัฐบาลก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ จึงได้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นนัดพิเศษในวันที่ 6 มีนาคม 2477 การอภิปรายเป็นไปอย่างยืดยาว “ข้ามวันข้ามคืน” แล้วมามีมติกันในวันรุ่งขึ้น โดยเห็นชอบให้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล โอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนม์เพียง 9 ปี โดยให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2477 เวลา 13.45 น. ตามเวลาที่รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติจากประเทศอังกฤษ ในหนังสือ “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” เขียนโดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย เขียนไว้ว่ารัฐบาลได้ส่งผู้สำเร็จราชการไปแจ้งข่าวและขอพระราชทานพระกรุณาให้ทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ โดยไปขอพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จย่าคือสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งก็ทรงมีพระบรมราชานุญาต อย่างไรก็ตามเนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงมีพระราชภาระที่ยังคงต้องทรงศึกษาในโรงเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ จึงขอให้มีผู้สำเร็จราชการปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ไปก่อน แล้วจะเสด็จนิวัติมาประเทศไทยในเวลาที่เหมาะสมต่อไป การที่มีการ “ชลอ” ไม่ให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จกลับประเทศไทย ไม่ได้มีเหตุผลเพียงแค่ทรงมีพระราชภาระในการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมี “ลับลมคมใน” อีกบางเรื่อง ที่เป็นเรื่องใหญ่และน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดในการที่ยังไม่ให้ในหลวงเสด็จกลับก็คือ “ยังไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในคณะราษฎร” โดยเรื่องนี้ได้มีการ “พูดคุย” อยู่ในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะในเรื่อง “ความปลอดภัย” นับตั้งแต่ที่คณะราษฎรได้เข้ามายึดอำนาจก็มีคำแถลงการณ์ที่รุนแรงต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 กับพระบรมวงศานุวงศ์ และตลอดเวลาปีกว่าในช่วงก่อนที่รัชกาลที่ 7 จะทรงสละราชสมบัตินั้น คณะราษฎรก็ได้แสดงอาการข่มเหงและไม่ให้ความเคารพต่อพระบรมวงศานุวงศ์เรื่อยมา จนกระทั่งพระบรมวงศานุวงศ์จำนวนหนึ่งต้อง “หนีภัย” ไปอยู่ยังต่างประเทศ ไม่เว้นแม่แต่ต่อพระเจ้าอยู่หัวจนถึงขั้นต้องทรงสละราชสมบัติดังกล่าว คณะราษฎรเองก็รู้ดีว่าไม่เป็นที่โปรดปรานของพระบรมวงศานุวงศ์เท่าใดนัก รวมถึงยังมีความหวาดระแวงในข้าราชการและทหารบางกลุ่มอยู่ว่าจะยังคิดกบฏต่อต้านล้มล้างคณะราษฎร ดังเช่นที่ได้มีการจับกุม “คณะกบฏนายสิบ” ในวันที่ 3 สิงหาคม 2478 แล้วส่งฟ้องศาลซึ่งตั้งขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะคดีนี้อย่างรวดเร็ว โดยในคำฟ้องของรัฐบาลนั้นระบุว่ากลุ่มกบฏคณะนี้ “มุ่งหมายที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างรัฐบาล และพระมหากษัตริย์ปัจจุบัน (คือรัชกาลที่ 8) ฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และฆ่าผู้บังคับบัญชา” ซึ่งในความจริงกลุ่มทหารนายสิบเหล่านี้ไม่พอใจในการบริหารราชการของรัฐบาล และผู้บังคับบัญชาที่ไม่ให้ความเป็นธรรม รวมทั้งเห็นว่า “รัฐบาลไม่ได้เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเท่าที่ควร” โดยที่สุดของคดีนี้ “ศาลพิเศษ” ได้พิพากษาประหารชีวิตสิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด ส่วนผู้ร่วมก่อการที่เหลือก็ได้รับโทษจำคุกลดหลั่นกันไป หลังจากคดีกบฏตัดสินไปได้ไม่กี่วัน ก็มีข่าวใหญ่เรื่องการปลงพระชนม์พระองค์เองของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีข่าวร่ำลือไปทั้งพระนครว่าพระองค์ไม่อาจจะทนต่อความบีบคั้นทางการเมืองในขณะนั้นได้ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและไว้วางใจในความปลอดภัยที่จะมีต่อพระบรมวงศานุวงศ์นั้นอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งรับแต่เพียงอย่างเดียว โดยได้ใช้สื่อของรัฐสร้างข่าวเป็นระยะๆ ว่ากำลังส่งคนไปขอพระราชทานพระกรุณาให้เสด็จนิวัติพระนครในปี 2478 นั้นอยู่ รวมถึงที่ได้นำเสนอพระบรมฉายาลักษณ์เป็นภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ตลอดเวลา แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนจากทางพระตำหนักที่สวิตเซอร์แลนด์ ในขณะที่สื่อเอกชนหรือหนังสือพิมพ์ที่ไม่ใช่ของรัฐก็พากันนำเสนอภาพพระอริยาบทของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ที่ยังทรงศึกษาอยู่ ณ ที่นั่นด้วยเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อคนไทยทั่วประเทศในความ “ใคร่เห็น” พระองค์จริงของพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระเยาว์ว่าจะ “มีพระสิริโฉมน่ารักน่าเอ็นดู” เพียงใด ซึ่งก็ยิ่งสร้างแรงบีบคั้นแก่คณะราษฎรที่ยังไม่สามารถกราบบังคมทูลให้เสด็จกลับมานั้นได้ โดยได้ใช้ความพยายามมาจนถึงปี 2480 จึงมีพระราชโทรเลขมายังคณะราษฎรว่า “กำลังพิจารณาเรื่องการเสด็จนิวัติพระนคร” เป็นเวลาเกือบ 5 ปีที่คนไทยจะได้เห็นพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่