เราเน้นย้ำมาตลอดว่า ประเทศไทยชคดีที่มีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ไทยมีดิน น้ำ ฃลมฟ้าอากาศที่ดี สามารถผลิตอาหารและพลังงานจากธรรมชาติหมุนเวียนได้อุดมสมบูรณ์ ปัญหาของโลกปัจจุบันก็คือเรื่องอาหารกับเรื่องพลังงาน ไทยจึงคสรรักษาสภาพแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติที่อื้อต่อการผลิตอาหารและพลังงานหมุนเวียน ทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบขั้นต้นนั้น ไทยก็มี แต่ไทยไม่ถนัด หรือมิได้เป็นเจ้าของเทคดนโลยีแปรรูปทรัพยากรเหล่านั้นให้เพิ่มมูลค่าสูง ๆ ผลได้จากทรัพยากรใต้ดินเหล่านั้น จึงเป็นเพียงค่าสัมปทานเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกทั้งการขุดแร่ใต้ดินขึ้นมาแปรรูป ก็อาจสร้างผลเสียต่อภาวะแวดล้อมและการเกษตรกรรมอีกด้วย ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่ทำให้กลุ่มพลเมืองคนเล็กคนน้อยขัดแย้งกับ “รัฐ” มากคือปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การที่รัฐให้ความสำคัญกับผลประโยชน์จากทุน เช่นค่าสัมปทาน มากกว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนของพลเมืองคนเล็กคนน้อย เป็นชนวนก่อความขัดแย้งเสมอ การยกแผ่นดินให้เป็นหมื่นเป็นแสนไร่ รวม ๆ กันเข้าเป็นหลายล้านไร่ ให้กับกลุ่มทุน ในนามสัมปทาน เช่น เหมืองทอง , เหมืองโปแตส , บ่อน้ำมัน , บ่อแก๊ซธรรมชาติ ฯลฯ พลเมืองในพื้นที่ ได้อะไร ? เสียอะไร ? ตอบได้ว่าพลเมืองในพื้นที่เสียหายย่อยยับ แร่เป็นทรัพยากรที่เชื่อมโยงกับที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ อากาศ และความมั่นคงของชุมชนเป็นอย่างมาก การควบคุมบริหารจัดการแร่อยู่ในอำนาจของรัฐ การพัฒนาทรัพยากรแร่ในประเทศไทย แม้จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติได้มาก แต่ก็ได้ทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนมากมายยิ่งกว่า โดยเฉพาะการแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินการเหมืองแร่ ฐานคิดในการจัดการทรัพยากรยังมองว่า แร่เป็นของรัฐ และหน่วยงานรัฐที่จัดการนั้นเห็นว่าคือ “แร่ธาตุเป็นสิ่งที่มูลค่าและเร่งที่ขุดมาเพื่อทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่วนปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสังคมที่จะตามมานั้น เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ป้องกัน แก้ไข หรือบรรเทาได้ด้วยเทคโนโลยี หรือการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และชดเชยอย่างเป็นธรรม” ในความเป็นจริง การทำเหมืองแร่ยังมิได้คำนึงถึงต้นทุนทางธรรมชาติและสังคมเท่าที่ควร จึงมักปล่อยปะละเลยสร้างมลภาวะจนส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน จนเกิดกรณีพิพาทรุนแรง การแก้ไขปัญหาแร่เชิงโครงสร้าง จะต้องพิจารณาทั้งในเชิงแนวคิดหลักการ และวิธีการจัดการ โดยจะต้องยึดหลักความเป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ร่วมกันระหว่างรัฐ และประชาชนในท้องถิ่น โดยคำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ สังคมในปัจจุบันเติบโตท่ามกลางการแก่งแย่งแข่งขันอย่างรุนแรง การคิดเห็นหรือการปฏิบัติที่แตกต่างกันจนเกิดความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องปกติของแทบทุกสังคมที่ต้องเผชิญ หากจัดการได้ สังคมก็จะเติบโตอย่างมีคุณภาพ หากจัดการไม่ได้ก็จะขัดแย้ง เกิดความแตกแยก