ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองบ้านเรากลับมาร้อนแรงอีกครั้ง โลกโซเชียลก็ยิ่งเดือดระอุ ด้วยกลายเป็นสนามรบหลักในการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการใช้ความรุนแรง ซึ่งตามหลักการฝ่ายใดเป็นผู้ใช้ความรุนแรงก่อน ฝ่ายนั้นย่อมพ่ายแพ้ ทำให้มีการช่วงชิงการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ
เรื่องราวที่หลั่งไหลในโลกโซเชียล จึงมีทั้งข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อสันนิษฐาน วิเคราะห์ วิจารณ์ต่างๆ คลิปวิดีโอและภาพถ่าย เป็นหลักฐานสำคัญต่างถูกนำเสนอกันในแง่มุมต่างๆ เรื่องบางเรื่องที่ละเอียดอ่อน และอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ กับบุคคลากรในแวดวงการแพทย์ ถูกขยายออกไป แม้แต่ในกลุ่มของคนที่ไม่เลือกฝ่าย เลือกข้าง
จนมีเสียงบ่นจากคนดังในบ้านเรา เสนอให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นตอ ก็คือ การหยุดให้บริการด้านอินเตอร์เน็ตสัก 10 ปี จะดีหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่า เกิดความเห็นต่างแบบรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และการเผยแพร่เรื่องและภาพที่ไม่เหมาะสม ไม่เว้นแม้แต่ในสื่อหลัก แม้ภายหลังคนดังรายนี้จะถูกวิจารณ์อย่างหนัก จนต้องลบข้อความที่แสดงความคิดเห็นไป
อย่างไรก็ดี แม้เราไม่อาจย้อนกลับไปในยุคก่อนอินเตอร์เน็ตได้ และต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆในอนาคตข้างหน้า การรู้จักเลือกรับข้อมูลข่าวสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ ในการใช้สื่อและการรับข้อมูลข่าวสาร หากมีการอบรมสั่งสอนกันตั้งแต่ในวัยก่อนอนุบาลได้ยิ่งดี เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีได้เข้าถึงในทุกวัย
กระนั้น หลักในการเสพข้อมูลข่าวสารและพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญา ไม่เชื่อสิ่งใดอย่างงมงายนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมไว้ ตามหลัก “กาลามสูตร” ไว้แล้ว เป็นพระสูตรที่สามารถนำมาใช้ได้ในการรับข้อมูลข่าวสารจากโลกอินเตอร์เน็ตทุกวันนี้ ประกอบด้วย
“1.มา อนุสฺสวเนน - อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟัง ๆ ตามกันมาหรือเพียงใครพูดให้ฟัง
1. มา ปรมฺปราย - อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมาอย่างยาวนาน
2. มา อิติกิราย - อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือหรือคนส่วนใหญ่เชื่อกัน
3. มา ปิฏกสมฺปทาเนน - อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือมีในคัมภีร์
4. มา ตกฺกเหตุ - อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
5. มา นยเหตุ - อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดคะเน) และการเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาปะติดปะต่อกัน
6. มา อาการปริวิตกฺเกน - อย่าปลงใจเชื่อเพราะการเห็นด้วยตา หรือตามลักษณะอาการที่แสดงออกมาน่าจะเป็นไปได้
7. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา - อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีหรือทิฏฐิของตนหรือตามอคติในใจ
8. มา ภพฺพรูปตา - อย่าปลงใจเชื่อเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ หรือเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ หรือเพราะเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง
9. มา สมโณ โน ครูติ - อย่าปลงใจเชื่อเพราะเคารพนับถือว่าคนพูดเป็นสมณะผู้นำทางจิตวิญญาณของเรา เป็นครูของเรา เป็นศาสดาของเรา”
โดยเฉพาะข้อสุดท้ายนี้ มีตัวอย่างให้เห็นเป็นปัจจุบัน ที่เชื่ออาจารย์แล้วต้องเดินขึ้นศาลและติดคุกกัน