ทวี สุรฤทธิกุล
ทุกสถาบันมีจุดอ่อน แต่การจาบจ้วงกลับเป็นจุดอ่อนของผู้ประท้วงเสียเอง
“มรดกบาปของคณะราษฎร” คือการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อมองย้อนไปย้อนมาเทียบอดีตกับปัจจุบัน อาจจะมองเห็นจุดร่วมของพฤติกรรมเยี่ยงนี้ว่า น่าจะเกิดจากเหตุผล 2-3 ประการ
ประการแรก “ปมแค้น” หรือความอาฆาตมาดร้ายที่กลุ่มคนเหล่านี้มีต่อสถาบัน ซึ่งอาจจะเป็นด้วยเหตุผลส่วนตัว เช่น ความไม่พอใจในการรับราชการ หรือถูกแรงบีบคั้นจากระบบ ที่เจ้าใหญ่นายโตในสมัยก่อนนั้นคือเป้าหมายของความคับแค้นดังกล่าว ซึ่งความรู้สึกนี้มีปรากฏเด่นชัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา โดยได้เกิดกบฏขึ้นตั้งแต่ต้นรัชสมัยใน พ.ศ. 2455 นั้น แล้วเชื้อร้ายนี้ก็ฝังตัวอยู่ในหมู่ข้าราชการบางกลุ่ม จนกระทั่งอีก 20 ปีต่อมา ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับกลุ่มม็อบในปัจจุบัน ที่มีความไม่พอใจต่อการดำรงคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มาขัดขวางการขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามทหาร นั่นก็คือ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่โจมตีทั้งสองสถาบันนี้ว่า “สมคบคิด” และมีผลประโยชน์ร่วมกัน อย่างหนึ่งก็คือการอยู่ในอำนาจ โดยกีดกันฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจเทียบเท่า
ประการต่อมา “ปมด้อย” เนื่องจากโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยไปกระจุกอยู่กับกลุ่มคนที่อยู่ข้างบนแทบทั้งหมดมาโดยตลอด ทำให้คนรุ่นใหม่ที่คิดจะเติบโตก้าวหน้า ที่ในสมัยก่อนก็คือความเจริญก้าวหน้าในทางราชการ จำเป็นจะต้องฟันฝ่าและมองว่ากลุ่มคนที่อยู่ในอำนาจเหล่านั้นเป็นอุปสรรคในความเจริญก้าวหน้าของชีวิต แบบว่าเห็นตัวเองนี้ด้อยกว่า เช่นเดียวกันกับคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ ที่มองว่ากลุ่มชนชั้นสูงและนักการเมืองในแบบเก่า ๆ คืออุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการเติบโตก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ ที่จะเข้าไปมีบทบาททางการเมือง ดังจะเห็นได้จากข้อโจมตีเรื่องรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการแก้ไขว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ปกป้องระบอบทหารและคุ้มครองให้ทหารได้มีอำนาจอยู่ในระบบการเมืองไทยไปอีกนานแสนนาน ดังนั้นสิ่งเดียวที่จะลบล้างปมด้อยเหล่านี้ได้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจโดยการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนั้นเสีย
อีกประการหนึ่ง “ปมเด่น” คือการสร้างความเป็นตัวตนของกลุ่มคนที่ต่อต้านระบอบเก่า ดังที่เราจะเห็นได้จากข้อมูลในประวัติศาสตร์ว่า คณะราษฎรได้ออกอาการ “ยกตนข่มท่าน” ที่ต้องการจะอยู่เหนือทุก ๆ สถาบันในสังคม ดังจะเห็นได้จากข้อความในประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางเสีย ๆ หาย ๆ ไว้อย่างรุนแรง ในขณะเดียวกันก็อ้างอวดความวิเศษของคณะราษฎรว่า จะสร้างสังคมใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ถึงขั้นนึกว่าพวกเขาเป็น “เทพเจ้า” ที่สามารถจะสร้าง “โลกพระศรีอาริย์” ให้เกิดขึ้นกับคนไทยได้ ครั้นมามอง “ม็อบไม่เอาเจ้า” ในปัจจุบันก็แสดงกริยาอาการในแนวเดียวกัน คือความไม่เคารพนบนอบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกับที่ขายฝันให้กับคนรุ่นใหม่ว่า จะสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยเสรีภาพ เพียงแต่จับจุดสังคมไทยผิดไป ที่ไปนำเอาแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์มาขายฝันด้วย จึงทำให้ผู้คนยังลังเลที่จะเห็นคล้อยตาม และเป็นอุปสรรคสำคัญของความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างที่คณะราษฎรเมื่อ 89 ปีก่อนก็ประสบปัญหาเดียวกันนี้
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในตอนที่เข้าสู่วงการการเมืองในยุคแรก ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ก็มีความมุ่งหมายที่อยากจะสร้าง “ความสมดุล” ให้กับระบบการเมืองไทย เพราะตอนนั้นคณะราษฎรในฝ่ายที่ไม่เอาเจ้าที่เป็นพวกพลเรือนกำลังมีอำนาจสูงสุด เนื่องจากคณะราษฎรในฝ่ายทหารหมดอำนาจลงไป อันเป็นเพราะผู้นำทหารไปเข้าข้างด้วยญี่ปุ่น ที่เป็นผู้แพ้สงคราม ทั้งยังทำให้ผู้นำทหารถูกฟ้องร้องเป็นอาชญากรสงคราม ทำให้ทหารถูกตัดออกจากวงจรการเมืองของไทยไปชั่วคราว (แล้วก็กลับมาคืนสู่อำนาจโดยเร็วในปีต่อมา ด้วยการรัฐประการในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ก็ด้วยข้อกล่าวหาต่อฝ่ายพลเรือนว่า มีการสมคบคิดต่อกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในกลางปีนั้น) พอดีกับที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ได้ร่างให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ โดยที่ฝ่ายไม่เอาเจ้าก็กำลังจะก่อตั้งพรรค ท่านอาจารย์คึกฟทธิ์จึงรีบตั้งพรรคก้าวหน้าขึ้นมาเสียก่อน ก่อนที่จะมาร่วมกับเพื่อนนักการเมืองคนอื่น ๆ มาตั้งพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็ด้วยเหตุที่ว่ากลุ่มที่สนับสนุนคณะราษฎรนั้นได้ก่อตั้งพรรคแนวรัฐธรรมนูญขึ้นแล้ว จึงจำเป็นจะต้องมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่พอ ๆ กัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายที่มีแนวคิดเป็นอันตรายต่อสถาบันได้ครอบครองอำนาจไว้ทั้งหมด
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เล่าให้คณะของผู้เขียนในคราวที่ได้ไปสัมภาษณ์ท่านเพื่อทำ “ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า” อันเป็นโครงการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ถึงเรื่องการสร้างสมดุลทางการเมืองในตอนนั้นว่า ในยุคนั้นผู้คนเริ่มหวั่นวิตกว่า คณะราษฎรอาจจะนำประเทศไทย “เข้ารกเข้าพง” และจากการที่ได้เห็นพฤติกรรมของคณะราษฎรว่า “ไร้มารยาท” ต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งคนไทยทนไม่ได้ (ต้องขออภัยที่รายละเอียดในเรื่องนี้ไม่อาจจะบันทึกไว้เป็นหลักฐานได้ เนื่องจากผู้ให้สัมภาษณ์ขอให้ “ออฟเร็คคอร์ด”) จำเป็นที่จะต้องมีการรวมกลุ่มกันเข้าต่อสู้ ยุทธวิธีหนึ่งในการต่อสู้ก็คือ “การสร้างมารยาทอันดีงาม” ให้เกิดขึ้นในระบบรัฐสภา ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าคณะราษฎรไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ และได้สร้างรอยด่างไว้กับระบบรัฐสภาไทยมากมาย
มารยาททางการเมืองคือเรื่องของพฤติกรรมที่เหมาะสมเหมาะควรของเหล่านักการเมืองทั้งหลาย ในอันที่จะเชิดชูสถาบันหลัก ๆ ของชาติ โดยเฉพาะตัวสถาบันรัฐสภานั้นเอง เพื่อที่จะให้ผู้คนได้ยกย่องนับถือ และมองเห็นคุณค่าความสำคัญ ในสัปดาห์หน้าจะขอมาสรุปให้เห็นว่า ที่รัฐสภาไทยยังย่ำแย่อยู่อย่างในทุกวันนี้เป็นเพราะอะไร และเราควรจะปรับปรุงแก้ไขไปในทางใด โดยเฉพาะ “มารยาทในทางการเมือง”
ขนาดคุณชวน หลีกภัย ยังบ่นเมื่อวันก่อนว่า “ควบคุมการประชุมนั้นพอทำได้ แต่ควบคุมมารยาทนั้นยากมาก”