เสือตัวที่ 6
การขับเคลื่อนการต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายปลายทางระดับยุทธศาสตร์ นั่นคืออิสระในการปกครองดูแลกันเองของคนในท้องถิ่น ตามวิถีทางที่บรรดาแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานต้องการนั้น ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่เคยหยุดยั้ง หากแต่กลับเพิ่มความเข้มข้นในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาถึงเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการดังกล่าวนั้นให้มากขึ้นและลุ่มลึกมากขึ้น ตามสถานการณ์การต่อสู้กับรัฐที่เปลี่ยนไป ด้วยมันสมองอันปราดเปรื่องของนักคิดนักวางแผนในขบวนการแห่งนี้ที่เล็งเห็นแล้วว่า การต่อสู้ในห้วงที่ผ่านมา พวกเขาได้สูญเสียความชอบธรรมในการต่อสู้กับรัฐลงไปในระดับที่เสียหายต่อภาพลักษณ์ทางอุดมการณ์ในการต่อสู้กับรัฐเป็นอย่างมาก แนวร่วมขบวนการในการต่อสู้เพื่ออิสระในการปกครองกันเองในพื้นที่จึงขาดแรงหนุนส่งจากองค์กรระหว่างประเทศในหลายๆ องค์กรและหลายๆ เวที รวมทั้งขาดพลังในการสนับสนุนจากบรรดาประเทศทางตะวันออกกลางบางประเทศ รวมทั้งประเทศในแถบอาเซียนที่มีความเชื่อทางศาสนาอย่างเดียวกัน
ทำให้พลังในการต่อสู้กับรัฐในแนวทางเดิมอย่างที่ผ่านมา ไม่สามารถส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายสุดท้ายของขบวนการได้ตามที่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งโหมกระพือความเป็นอัตลักษณ์ของคนมลายูท้องถิ่นให้แปลกแยกจากคนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ การบ่มเพาะแนวคิดจนนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังอย่างสุดโต่งให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง และพร้อมจะเข้าร่วมขบวนการทั้งทางตรงและทางอ้อมในการใช้ความรุนแรงต่อคนต่างความเชื่อและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างโหดเหี้ยม เพื่อสร้างภาพของความขัดแย้งด้วยอาวุธอย่างรุนแรงระหว่างคนในพื้นที่แห่งนี้กับรัฐ โดยหวังจะสื่อไปถึงองค์กรระหว่างประเทศให้ยื่นมือเข้ามาเป็นตัวกลางในการยุติความรุนแรง ความขัดแย้งด้วยอาวุธ และพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งในท้ายที่สุดก็คือการเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่แห่งนี้ แสดงความคิดเห็นในการอยู่ร่วมกันว่า คนส่วนใหญ่ต้องการการปกครองทางการเมืองกับฝ่ายใด
ซึ่งแนวทางการต่อสู้อย่างที่ผ่านมา ฝ่ายขบวนการแห่งนี้ได้พบแล้วว่า ไม่สามารถเดินต่อได้อย่างทางพลัง กองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงในพื้นที่นับวันยิ่งจะอ่อนล้าลงไปเรื่อยๆ จากระยะเวลาการต่อสู้ที่ทอดยาวออกไปจนไม่เห็นจุดจบ ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐ สามารถเจาะโครงสร้างขององค์กรลับแห่งนี้ได้มากขึ้นๆ และปรับยุทธวิธีการต่อสู้ให้สอดรับกับการจำกัดการต่อสู้ด้วยอาวุธของฝ่ายขบวนการนี้ลงได้อย่างเห็นผล พร้อมการขับเคลื่อนการต่อสู้ของรัฐในหลากหลายมิติที่รู้เท่าทันขบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการสกัดกั้นการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบในสถานศึกษาบางแห่ง ในชุมชน และในเรือนจำของรัฐบางแห่ง การพัฒนาอย่างรอบด้านเพื่อสนับสนุนงานด้นความมั่นคงอย่างตรงเป้า การเข้าถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ใกล้ชิดมากขึ้น เป็นต้น
ปัจจัยข้างต้นเหล่านั้น ล้วนส่งผลให้นักคิดระดับนำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวาน ต้องปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐ ไปเป็นการต่อสู้ทางความคิด ผ่านเวทีการพูดคุยที่รัฐกำลังเปิดโอกาสอยู่ในขณะนี้ ด้วยกลไกในหลากหลายรูปแบบที่ฝ่ายขบวนการตระเตรียมไว้อย่างพร้อมมูล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มภาคเอกชนเพื่อการพัฒนา (NGO) กลุ่มภาคประชาสังคม (CSO) กลุ่มชมรมหลากหลายของนักเรียน นักศึกษาในระดับต่างๆ ที่พร้อมจะเป็นกลไกในการส่งผ่านข้อมูล เงื่อนไข ข้อเรียกร้องต่างๆ ในหลากหลายประเด็นที่ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นเงื่อนไขสำคัญในการแยกตัวเองออกไปปกครองดูแลกันเองอย่างอิสระในวิถีทึ่คนกลุ่มนี้ต้องการในที่สุด
ความเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ของบรรดานักคิดแกนนำของขบวนการ ในการปรับแนวทางในการต่อสู้ใหม่ เพื่อแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานก็คือ ล่าสุด เมื่อต้นปี 2564 กลุ่มขบวนการที่ชื่อ กลุ่ม BRN และคณะผู้แทนของรัฐบาลไทย ต่างเห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุข เพื่อดำเนินการพูดคุยต่อในระดับทีมเทคนิค และได้จัดการประชุมแบบ Video Conference เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาการเตรียมเพื่อการพูดคุยระหว่างกันอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในการประชุมดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ ที่มีสาระสำคัญ เช่น 1.การแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานี โดยวิธีการทางการเมืองหรือการบริหารการปกครองที่สอดคล้องและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนท้องถิ่นปาตานี 2.การลดปฏิบัติการทางการทหารลงทั้งสองฝ่าย กล่าวคือการถอนกำลังทหารติดอาวุธของฝ่ายรัฐออกไปจากพื้นที่ เพื่อให้กองกำลังติดอาวุธของขบวนการลดการเผชิญหน้ากับฝ่ายกองกำลังติดอาวุธของรัฐลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยอ้างถึงแนวทางสันติวิธีที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ 3.การให้มีส่วนร่วมมากขึ้นขององค์กรภาคประชาสังคม (CSO) องค์กรภาคเอกชน (NGO) บุคคลสำคัญทางด้านศาสนา การเมือง และสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกของปัญหาคามแนวทางสันติวิธีและสนองตอบต่อความต้องการของคนในพื้นที่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยอ้างถึงความสอดคล้องกับแนวคิดการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย (Inclusivity) ที่ได้มีการพูดคุยตกลงกันก่อนหน้านี้แล้ว โดยอ้างว่า แนวทางดังกล่าวจะทำให้เกิดการพูดคุยอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาธิการของผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุข จะจัดการประชุมระดับทีมเทคนิคครั้งที่สองในเวลาอีกไม่นาน
ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นสำคัญยิ่งที่คนในระดับนโยบายของรัฐ จะต้องเร่งทำความเข้าใจในวิถีเชิงยุทธศาสตร์การต่อสู้ของแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวาน ที่พวกเขาพร้อมแล้วในการปรับตัว เพื่อรองรับเวทีของสนามรบแนวใหม่ การต่อสู้แบบใหม่ที่แปลกใหม่กว่าที่ผ่านมา บนข้ออ้างของประเด็นเรียกร้องทั้ง 3 ประการเบื้องต้น ที่ล้วนแล้วแต่เข้าทางฝ่ายขบวนการที่พวกเขาตระเตรียมมานานแล้ว เพื่อให้ได้เปรียบคณะพูดคุยของรัฐ และเพื่อเป็นฝ่ายบรรลุเป้าหมายของการปกครองดูแลกันเองตามความต้องการตามวิถีชีวิตที่พวกเขาเรียกร้องมาตลอด โดยอ้างการมีส่วนร่วมของคนที่ขบวนการเป็นฝ่ายจัดตั้ง และอ้างความต้องการของคนในท้องถิ่นปาตานีเป็นสำคัญ
หากแต่คำถามสำคัญก็คือว่า เมื่อถึงเวลาที่จะต้องพูดคุยแสวงหาทางออกของปัญหา ซึ่งถูกหลอกล่อให้เดินไปในแนวทางที่ฝ่ายนักคิดของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต้องการแล้ว ฝ่ายรัฐได้ตระเตรียมกลุ่มคนที่มีฝีมือทัดเทียมกับกลุ่มคนนักพูดคุยเจรจาต่อรองของขบวนการ ในการแลกเปลี่ยน ต่อสู้ทางความคิดแล้วหรือไม่ ฝ่ายรัฐได้ตระเตรียมชุดข้อมูลที่แหลมคมมากพอที่จะต่อกรกับชุดข้อมูลที่ฝ่ายขบวนการตระเตรียมไว้นานแล้วหรือยัง ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา เป็นเพียงบางประเด็นที่กำลังถูกฝ่ายขบวนการโน้มนำให้ฝ่ายรัฐ ต้องเดินไปในแนวทางที่ขบวนการต้องการ จึงขอเตือนทุกฝ่ายไว้ว่า อย่าได้หลงระเริงกับความสำเร็จของบรรยากาศในการพูดคุยสันติสุขเพียงเท่านั้น เพราะนั่นคือภาพลวงตา แต่จงตระหนักว่า ฝ่ายรัฐมีความพร้อมที่จะรองรับการต่อสู้แนวใหม่นี้มากน้อยเพียงใด