โจทย์ที่ยากขึ้นสำหรับการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ สำหรับประเทศไทย นั่นก็คือ การที่ต้องเฝ้าระวังเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ จำนวน 3 สายพันธุ์ ที่สร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก
หนึ่งคือ “สายพันธุ์ B.1.1.7” เป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอย่างหนักในประเทศอังกฤษ รวมทั้งแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นการกลายพันธุ์ที่ทำให้ไวรัสสามารถจับกับผิวเซลล์ของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น แบ่งตัวได้ดีขึ้น จึงทำให้มีเชื้อไวรัสในโพรงจมูกมาก ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น รวมทั้งอาจจะสัมพันธ์กับอาการป่วยและเสียชีวิตที่มากกว่าไวรัสสายพันธุ์ปกติเล็กน้อย
สองคือ “สายพันธุ์ B.1.351” เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาและเซาท์แอฟริกา ไวรัสที่กลายพันธุ์จะสามารถจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดี หลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนได้ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงอย่างเห็นได้ชัด
และสาม “สายพันธุ์ P.1” เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่ระบาดในบราซิล มีลักษณะคล้ายกับไวรัสกลายพันธุ์ในแอฟริกา
ใน 3 สายพันธุ์นี้ รศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า สายพันธุ์แอฟริกานั้น มีการแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศ ทั้งในแอฟริกาและอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียด้วย ซึ่งประเด็นนี้กระทบต่อประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากสายพันธุ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา
โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลแอฟริกาใต้สั่งระงับการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา หลังมีงานวิจัยชี้ว่า วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพต้านไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่น่าผิดหวัง
ขณะที่ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง กล่าวว่า มีข้อสงสัยว่าเชื้อ B.1.351 ที่มาจากแอฟริกา มีพฤติกรรมบางอย่างที่ต่างไปจากสายพันธุ์อื่น อาจมีการเปลี่ยนกระบวนการรับมือที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม ยาฟาวิพิราเวียร์ ยังใช้ได้ แต่ไม่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการว่ามีการตอบสนองแตกต่างกันหรือไม่ จุดสังเกตของเชื้อกลายพันธุ์แอฟริกา คือติดได้ง่ายขึ้นและอาจรุนแรงมากขึ้นด้วย
อีกด้านหนึ่ง องค์การอนามัยโลกประกาศให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา ที่วิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ อยู่ในบัญชีรายชื่อวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกันไวรัสโควิดฯ ได้เป็นกรณีฉุกเฉิน รวมถึงยังสามารถใช้ฉีดในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้ด้วย เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า วัคซีนขนานของแอสตราเซเนกา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีมาตรฐานเรื่องประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย มากกว่าที่จะมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการฉีด
ดังนั้น การมาของวัคซีนของแอสตราเซเนกา อาจคลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง แต่ประเทศไทยยังคงต้องศึกษาการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ควบคู่กันไป เพื่อเตรียมพัฒนาวัคซีนที่ต่อไปในอนาคต