หากไม่มีอะไรผิดพลาด การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะจบลงในวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ และจะมีการลงมติกันในวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายให้ได้ครบ 42 ชั่วโมงตามที่ตกลงกันไว้ และอาจจะลากยาวออกไปหรือไม่ อีกประเด็นสำคัญ ก็คือการอภิปรายจะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นหรือไม่ จากข้อมูลของฝ่ายค้าน ในการตรวจสอบการทำงานของบรรดารัฐมนตรี รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องมีการเปิดเผย “ข้อมูลเด็ด” ที่เป็น “หมัดน็อก” การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ ยังมีประเด็นที่หมิ่นเหม่ เชื่อมโยงไปถึงสถาบัน ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหว แม้จะมีความพยายาม พุ่งเป้าไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีก็ตาม โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่มีธงอภิปรายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน โดยจะเน้นหนักไปที่การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เอาผิดกลุ่มราษฎรที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ที่สำคัญ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ตรงกันกับวันที่ กลุ่มผู้ชุมนุมราษฎร นัดชุมนุมอีกครั้ง หลังการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเหตุปะทะรุนแรง ทำให้มีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม. ทวีตข้อความว่า “จะปาสี ปาขวดน้ำ ปาไข่เน่า ตะโกนไล่ หรือทำลายสิ่งที่อาจนำมาใช้ทำร้ายเราได้เช่นกรอกน้ำตาล/ทรายใส่รถจีโน่ มันคือการตอบโต้ที่ไม่มีเจตนาถึงชีวิต ไม่มีเจตนาให้เจ็บ แต่เพื่อป้องกันตัวเองและคนอื่น นี่คือปฏิบัติการไร้ความรุนแรง เพื่อไม่ให้ตำรวจมาทำร้ายพวกเราได้ #ม็อบ๑๓กุมภา...” จึงมีการจับตาการชุมนุมนัดที่จะมาถึง โดยเฉพาะการประกาศของแกนนำตอนหนึ่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า “ขอให้จดจำว่าในวันนี้เราโดนอะไรบ้าง ทุกการต่อสู้ เราเจออะไรบ้าง แล้วเราจะเอาคืน ในวันที่ 20 กุมภา พันธ์นี้” ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า ดูเหมือนการชุมนุมจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆว่า “ไปถามว่าทำไมถึงรุนแรงขึ้น แล้วใครเป็นคนทำล่ะ” นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วิเคราะห์ว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์หนีไม่พ้นนองเลือด เนื่องจากทั้งสองฝ่ายควบคุมกันไม่ได้และมีโรคแทรก ซึ่งไม่เคยมีใครป้องกันได้ในระหว่างชุมนุม “บทเรียน 13 กุมภาพันธ์ถ้าไม่แก้ไขแล้ว ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ผมว่าเป็นจุดเปลี่ยน และระหว่างจากวันที่ 13 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์นั้น ถ้าอัยการทำเรื่องไปถึงศาลฟ้องแกนนำที่เหลืออยู่ และให้เหตุผลอันเดียวกันนั้น ผมว่าเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก และไม่ง่ายกับสถานการณ์อันนี้” เมื่อประมวลจากอารมณ์ของแกนนำ บวกกับบริบทต่างๆ ของสถานการณ์การเมือง จึงทำให้หลายฝ่ายจิตประหวัดว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีกในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ กระนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุมต่างต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมและละเอียดอ่อน เพราะต่างตระหนักดีว่า “ใครเป็นคนทำ คนนั้นแพ้” ไม่รวมมือที่สามและมือที่สี่ ที่จะสอดแทรกสถานการณ์อีกด้วย