ไม่เกินความคาดหมายนัก สำหรับการปรับลดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยข้อมูลของสภาพัฒน์ ระบุตัวเลขจีดีพี ไตรมาส4 /2563 ขยายตัวเพียง 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนแต่หดตัวลง 4.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวจากในเรื่องของการอุปโภคและบริโภคภาครัฐ และเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่งผลให้จีดีพีปี 2563 หดตัว ลบ 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้กระทบกับภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจภายในประเทศ การเมืองภายในประเทศยังไม่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สศช.ยังคาดการณ์จีดีพีปี 2564 จะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% – 3.5% มีค่ากลางที่ 3% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในช่วง 3.5% – 4.5% เนื่องจากยังมีผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบใหม่ ในไตรมาส 1 ของปีนี้อยู่ ฉะนั้นถือว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่กลับเข้าสู่ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่ ยังมีปัญหาความเสี่ยงอีกมาก รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1 ของปีนี้ด้วย พร้อมกันนี้ ยังคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเพียง 3.2 ล้านคน ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 ลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าจะกลับมา 5 ล้านคน โดยการเตรียมความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะต้องเตรียมกระจายวัคซีนต้านไวรัสให้กับกลุ่มผู้ประกอบในภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เร็วมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ในภาคบริการปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากการศึกษาในประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่ได้รับวัคซีนต่อจำนวนประชากร มากที่สุดโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ข้อมูลตั้งแต่หลังปีใหม่มา อุบัติการป่วยในผู้สูงอายุลดลงอย่างเห็นได้ชัด อัตราการเสียชีวิตก็ลดลง และเมื่อมาให้ในผู้ที่มีอายุน้อยลง การแพร่กระจายของโรคก็จะน้อยลง เมื่อส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานแล้ว โอกาสในการเปิดประเทศ การสร้างความเชื่อมั่น ก็จะตามมา ทุกอย่างก็จะกลับคืนมา ดังนั้นการให้เร็วเท่าไหร่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็จะเร็วเท่านั้น พร้อมแนะให้ลองให้วัคซีน เช่นให้ทั้งจังหวัดภูเก็ต หรือเกาะสมุย และมีมาตรการในการดูแลคนเข้าออก ใครเข้าออกจะต้องมีภูมิต้านทานแล้ว โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจของทั้งสองแห่ง จะฟื้นขึ้นมาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนและองค์กรท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต ได้รวมตัวกันเสนอยุทธศาสตร์ Phuket First October ต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อพิจารณาให้ภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดหา จัดซื้อ และฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรภาคท่องเที่ยวเองทั้งหมด โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐ และ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยของมติสภาฯขององค์กรท้องถิ่นนั้นๆ อนุมัติให้ใช้เงินสะสมในการจัดหา จัดซื้อ และฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วไปในเขตปกครองของท้องถิ่นนั้นๆ กรณีนี้ รัฐบาลโดยศบค.ต้องพิจารณาและหาทางออกให้ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว เนื่องจากภูเก็ตโมเดลจะเป็นตัวอย่างให้กับอีกหลายจังหวัด โดยรัฐบาลยังคงต้องควบคุมดูแล ภายใต้จุดยืนในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตของพี่น้องประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางออกให้ผู้ประกอบการได้ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อต่อลมหายใจของพวกเขา อย่างรอบคอบ และรอบด้านในทุกมิติ