วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ 2560 จะมีคำตัดสินคดีความสำคัญเกี่ยวกับการรับจำนำข้าวของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ผลการตัดสินจะออกมาแนวใด ไม่อาจคาดเดาได้ แต่มีจุดที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า “การรับจำนำข้าว” นั้นไม่ใช่ “ความผิด” แนวคิดการจำนำข้าว , แนวคิดประกันราคาข้าว , แนวคิดชดเชยราคาข้าว เป็นแนวคิดที่จะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ส่วนที่เป็นประเด็นฟ้องร้องให้ศาลสถิตยุติธรรมตัดสินความผิดถูกกันนั้น คือเเรื่องรายละเอียดในภาคส่วนการปฏิบัติรูปธรรม เกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว เมื่อเกิดความเดือดร้อนจากสินค้าเกษตรกรรมราคาตกต่ำ รัฐไทยก็จะคิดช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้แค่เพียง หาเงินมาชดเชยช่วยเหลือ , ประกาศราคาประกัน , รับจำนำข้าว , ส่งเสริมการประกันความเสียหายคล้าย ๆ การประกันภัย มาตรการเหล่านี้เป็นการแก้ไขที่ปลายทาง รัฐไทยยังแก้ไขปัญหาทั้งระบบไม่สำเร็จ ใคร ๆ ก็รู้ว่า ปัญหาใหญ่ของโลกในอนาคตอันใกล้คือเรื่อง“อาหาร” กับ “พลังงาน” เรื่องอาหารนั้นไทยมีศักยภาพด้านนี้สูง ประเทศไทยควรทุ่มเททุนพัฒนาการเกษตร ,อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่ม ฯ รวมถึงการขนส่งที่จะช่วยเสริมในด้านนี้ เรื่องพลังงานนั้น ไทยก็มีศักยภาพสูงด้านพลังงานทดแทนจากการเกษตร ในขณะที่ “ยุคพลังงานจากฟอสซิล” น้ำมันปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติกำลังจะสิ้นไป พลังงานทดแทนจากภาคเกษตรจึงเป็น “พระเอก” ตัวใหม่ ที่ประเทศไทยควรส่งเสริม ชนชั้นนำในสังคมไทยก็รับรู้เรื่องนี้ เพราะเห็นพูดกันถึงเรื่องพัฒนาประเทศไทยเป็นครัวโลกหรือแหล่งอาหารโลกกันมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่แนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่อยอดการเกษตรยังพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า รัฐบาลนี้มียุทธศาสตร์ให้ รวมพื้นที่ทำการเกษตรเป็นฟาร์มใหญ่ แล้วใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนการผลิต สร้างความร่วมมือผ่านองคืกร “ประชารัฐ” มาแก้ไขปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบทางการตลาด ฯ แต่ก็น่าห่วงว่ามันจะช่วยเกษตรกรรายย่อยได้จริงหรือ ? เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า ตลาดสินค้าเกษตรโลก “ถูกอภิทุน” ครอบงำ เก็งกำไรสูง ทำให้ทั้งเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาและพลโลกผู้บริโภคเดือดร้อน ตลาดสินค้าเกษตรภายในประเทศที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ก็ก็อาจกล่าวได้ว่าเป้นตลาดผูกขาด เรื่องราคาผลผลิตการเกษตรจึงเป็นเกมขูดรีดหากำไรของ “ทุน” ยิ่งถ้าทุนคุมได้หมดตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงตลาดค้าขายผลผลิตการเกษตร ที่ประชุมสุดยอดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ) เคยเรียกร้องประเทศทุนนิมศูนย์กลางว่า ชาติร่ำรวยทำให้สถานการณ์ความหิวโหยในโลกเลวร้ายลง เพราะปล่อยให้มีการเก็งกำไรในตลาดสินค้าเกษตร และใช้วิธีอุดหนุนเกษตรกรภายในประเทศ จนส่งผลกระทบต่อผลผลิตในประเทศกำลังพัฒนา การเก็งกำไรในตลาดสินค้าเกษตร ทำนองเดียวกับเก็งกำไรในตลาดหุ้น ในตลาดน้ำมัน ในตลาดทอง เป็นตัวกำหนดราคาผลผลิตเกษตร เมกะโปรเจ็คส์ด้านเกษตรกรรมของไทยจึงต้องรวมการแก้ปัญหา “การตลาด” อย่างเป็นระบบด้วย