ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 4 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา
เนื่องจากความวิตกกังวลและผลกระทบ เชิงลบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่ในประเทศไทย ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว โดยมีจุดเริ่มต้นในจังหวัดสมุทรสาครในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการว่างงานในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในรอบใหม่
การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 4 เดือน และปรับตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากตลอดจน ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 และต้นไตรมาสที่ 2 จนกว่าสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยจะคลายตัวลง
อีกด้านหนึ่งข้อมูลจากนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ผู้ประกอบค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนมกราคม 2564 (รอบการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 19-26 มกราคม 2564) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการสำรวจเป็นรายเดือน พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือนมกราคม 2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม และเป็นการปรับลดลง จากความอ่อนไหวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่สมาคมฯมองว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนมกราคม 2564 ว่า ในเดือนมกราคม 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงจาก ระดับ 46.8 มาอยู่ที่ระดับ 44.2 ตามการปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่การผลิตลดลงมากกว่า ภาคการผลิต เนื่องจากได้รับผล กระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มากกว่า
ทั้งนี้ ดัชนีฯ ของภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลงมาก และอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ในทุกธุรกิจ ยกเว้นบริการทางการเงิน โดย ความเชื่อมั่นของกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร ขนส่งผู้โดยสาร รวมถึงภาคค้าปลีกปรับลดลงมาอยู่ในระดับ ใกล้เคียงกับช่วง มี.ค. 63 ซึ่งเป็นช่วงต้นของการระบาดของ COVID-19 ระลอกแรก ขณะที่องค์ประกอบ ด้านต้นทุนในธุรกิจขนส่งผู้โดยสารอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ สะท้อนถึงต้นทุนเฉลี่ยต่อผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากราคา น้ำมัน ที่สูงขึ้น และจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงมากในช่วงนี้ สำหรับภาคการผลิต ความเชื่อมั่นลดลงจากกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ และกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ
ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคาดการณ์ว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ลดลงมากจาก 53.3 มาอยู่ที่ 48.0 หลังจากยืนอยู่เหนือระดับ 50 ได้ติดต่อกัน 5 เดือน ตามความกังวล ของผู้ประกอบการในด้านคำสั่งซื้อ การผลิต และผลประกอบการที่ คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยสัดส่วนของ ผู้ประกอบการที่เห็นว่าธุรกิจจะแย่ลงจากปัจจุบันเพิ่มขึ้นในเกือบ ทุกธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตเหล็ก ขนส่ง ผู้โดยสาร โรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีก รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ที่ดัชนีฯปรับลดลงมากและกลับมาอยู่ต่ำกว่า 50
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนแนวโน้มเศรษฐิจจะยังดิ่งหัวลง แต่กระนั้น ก็เป็นสถานการณ์ก่อนหน้าที่ โครงการ “เราชนะ” และโครงการ “ม.33เรารักกัน” จะอีดฉีดงบประมาณเข้าสู่ระบบ ขณะที่การมาของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตแรกจะเข้าไทยในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งต้องจับตาว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ไม่มากก็น้อย แต่เชื่อว่าจะไม่ทรุดไปกว่านี้