ทีมข่าวคิดลึก 24 สิงหาคมปีนี้ ย่อมบังเกิดความคึกคักขึ้นอีกครั้ง เมื่อ "ป๋าเปรม" พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เปิดบ้านต้อนรับ บุคคลสำคัญจากแวดวงต่างๆ ให้เข้าอวยพรเนื่องในครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่97 ณ บ้านสี่เสาเทเวศร์ แน่นอนว่าทันทีที่มีข่าวว่า พล.อ.เปรม เลือกจังหวะเปิดบ้านสี่เสาฯเนื่องในวันครบรอบวันเกิดในปีนี้ เร็วขึ้นจากวันเกิดในวันที่ 26 สิงหาคมนั้นจะมีเหตุผลที่ไปเชื่อมโยงกับ "วันพิพากษา"ในคดีรับจำนำข้าว ที่มี "ยิ่งลักษณ์ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยคนสำคัญหรือไม่ และแม้ "พล.ท.พิศนุ พุทธวงศ์"หัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในฐานะทหารคนสนิทพล.อ.เปรม ได้ปฏิเสธแล้วว่าไม่เกี่ยวกับการขยับวันเปิดบ้านให้เร็วขึ้น จากเดิม ที่จะเปิดในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมเพื่อเกรงว่าจะไปชนกับวันตัดสินคดีจำนำข้าวแต่อย่างใดก็ตาม แต่นาทีนี้ต้องยอมรับว่า ทุกความเคลื่อนไหวทางการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมถูกนำไปเชื่อมโยงกันได้ทั้งสิ้น จะด้วยเป็นเพราะสถานการณ์การเมืองที่มีความอ่อนไหว ทุกอย่างจึงง่ายจะถูกปลุกเร้า สร้างให้เกิดกระแสกันไปต่างๆ นานา ได้โดยง่ายดาย แต่ถึงกระนั้นการขยับขับเคลื่อนของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่หอบคณะรัฐมนตรี ไปเยือนโคราช ในการประชุมครม.สัญจร เมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น แม้จะถูกมองว่าเป็นการลงพื้นที่เพื่อ "เก็บแต้ม" หลังจากที่ผลการสำรวจ "คะแนนนิยม" กำลังกลายเป็นเส้นกราฟที่ดิ่งลงก็ตาม แต่ต้องนับว่า การประชุม ครม.รอบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ "เล่นใหญ่" กันเลยทีเดียว !ที่ต้องเล่นใหญ่ เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ และ คสช. ได้ประเมินสถานการณ์"ข้ามช็อต" เลยไปถึงช่วงหลังวันพิพากษา 25 สิงหาคมไปเรียบร้อยแล้ว แม้ผลจากการตัดสินของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะออกมาในทางที่เป็น "คุณ"หรือ "โทษ" ต่ออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก็ตามแต่ "งานใหญ่" ที่รอรัฐบาลและคสช. อยู่เบื้องหน้า ย่อมไม่ใช่ปัญหาจากการ เมือง เพียงมิติเดียว ทั้งการเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อทวงคืนความเชื่อมั่น หลังคดีสำคัญผ่านพ้นไปแล้ว ไปจนถึงการขันนอต มาตรการจัดระเบียบ การรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งยังถือเป็น "จุดแข็ง"สำหรับรัฐบาล คสช. ที่ยังได้แต้มต่ออยู่ในมือ อย่างไรก็ดี การกระชับอำนาจของ คสช. ผ่านการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพในการค้ำบัลลังก์นับจากนี้ ไปจนถึงก่อนและหลังการเลือกตั้งนั้นได้สะท้อนผ่านรายชื่อบรรดา "แม่ทัพนายกอง" ที่ปรากฏเป็นข่าว มาอย่างต่อเนื่องในการแต่งตั้งนายทหารประจำปี 2560 ค่อนข้างชัดเจน แต่ขณะเดียวกัน ย่อมไม่ได้หมายความว่าแม้ คสช. จะเป็นฝ่ายกุมอำนาจ จะสามารถ "วางใจ" ได้ว่าทุกอย่างจะมีเอฟเฟกต์ หรือทำให้รัฐบาลคสช. เผชิญหน้ากับ "ขาลง" ที่หนักหน่วงรุนแรง จนทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลมีแต่ย่ำแย่ลงไป การบริหารจัดการทั้ง อำนาจนโยบายและการ "ได้ใจ" ประชาชนเมื่อพ้นวันพิพากษาผ่านไปแล้วนั้นอาจจะเป็นโจทย์ข้อยาก สำหรับรัฐบาล และ คสช. มากกว่ากระแสจากคดีจำนำข้าว ก็เป็นได้ !