แม้จะกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาไว้ จำนวน 5 วัน คือ วันที่ 16-19กุมภาพันธ์ และลงมติกันในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ตามข้อตกลงระหว่างของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่เมื่อถึงวันอภิปรายจริงก็คงต้องไปว่ากันหน้างาน เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ เนื่องจากเค้าลางความปั่นป่วนวุ่นวายนั้น ส่อมาตั้งแต่เนื้อหาในญัตติของฝ่ายค้านที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลมองว่ามีความพยายามพาดพิงสถาบัน และขอให้มีการแก้ไข แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ไม่ยอมถอย อย่างไรก็ตาม ความคาดหวัง ที่ประชาชนอยากเห็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นนี้ คือมีข้อมูล ข้อเท็จจริง อธิบายได้อย่างเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ ปรับปรุงแก้ไขปัญหา เปลี่ยนแปลงนโยบาย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากยิ่งขึ้น เปลี่ยนแปลงตัวบุคคล ปรับคณะรัฐมนตรี หรือกระทั่งเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หากพบว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาจริง ก็อาจจะมีการดำเนินคดีตามมาด้วย ยกตัวอย่างในอดีต สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่ถูกฝ่ายค้านนำโดยพรรคชาติไทย ที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค อภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีการออกเอกสารสิทธิ์สปก.4-01 ให้กับนายทุน ซึ่งขัดกับหลักการของ สปก.4-01 ที่ต้องการจัดสรรที่ดินกับเกษตรกรเพื่อทำกิน โดยหลังเสร็จสิ้นการอภิปราย พรรคพลังธรรมซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น มีมติงดออกเสียง เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถตอบโต้ข้อกล่าวหาได้ชัดเจน รวมทั้งส.ส.กลุ่ม 16 ในพรรคชาติพัฒนา หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะไม่ยกมือไว้วางใจให้กับรัฐบาล แต่ก็ยังมีการลงมติไว้วางใจให้ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่รับผิดชอบกรณีดังกล่าวดำรงตำแหน่งต่อไป ส่งผลให้พรรคพลังธรรมประกาศถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล และนำมาซึ่งการตัดสินใจประกาศยุบสภาของนายชวน ส่งผลให้นายชวน ตัดสินใจประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในที่สุด และหลังเลือกตั้ง พรรคชาติไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี สลับกันกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลบรรหาร เรื่องแต่การบริหารราชการแผ่นดินไม่มีประสิทธิภาพ มีการกล่าวหาเรื่องสัญชาติบิดาที่เป็นกรณีสุดคลาสสิก ที่ถือเป็นบทเรียนทำให้ฝ่ายค้านในยุคหลังๆถูกจับตาเรื่องบรรทัดฐานในการอภิปราย และหลังการอภิปรายพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้กดดันให้ นายบรรหารลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งระหว่างที่นายบรรหารขอเวลาตัดสินใจลาออกใน 7 วัน ได้มีการรวบรวมเสียงสนับสนุนพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ทว่านายบรรหารก็ชิงประกาศยุบสภาเสียก่อน กระนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง และมีประเด็นสอดแทรกเรื่องของล้มกระดานแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาด้วย จึงน่าจับตาว่าจะส่งผลต่อการอภิปรายมากน้อยแค่ไหน และบทสรุปของการอภิปรายจะจบลงอย่างไร