สถานการณ์วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. การันตีว่าล็อตแรก เตรียมเข้าไทยภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้แน่นอน
ขณะที่สถาบันโลวี (Lowy Institute) ของออสเตรเลียได้จัดอันดับให้ไทยเป็นอันดับ 4 ที่รับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก จากทั้งหมด 98 ประเทศ แม้ไทยกำลังเผชิญการระบาดรอบใหม่ก็ตาม
เมื่อมาตรฐานด้านสาธารณสุข ประกอบการติดอาวุธด้วยวัคซีนโควิด ก็เชื่อว่าจะนำไปสถานการณ์ที่ดีขึ้น ทั้งสภาพสังคม ที่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ที่สำคัญคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถขับเคลื่อนไปได้ การเดินทางระหว่างประเทศ ที่จะกลับมาช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวเป็นต้น ผนวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาตรการต่างๆ และมาตรการเยียวยาที่ทยอยกันออกมาก็จะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น
และข้อมูลที่น่าสนใจ ท่ามกลางวิกฤติโควิด ทั่วโลกประสบปัญหานักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน แต่
ข้อมูลจากนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ ปี 2563 (นักลงทุน 252 ราย) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 อยู่จำนวน 35 ราย (ปี 2562 นักลงทุน จำนวน 217 ราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.13 และมีการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น จำนวน 6,162 ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 127 (ปี 2563 จ้างงานคนไทย 10,991 คน และปี 2562 จ้างงานคนไทย 4,829 คน)
โดยประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสูงสุด จำนวน 92 ราย (คิดเป็นร้อยละ 36) รองลงมา คือ สิงคโปร์ จำนวน 38 ราย (คิดเป็นร้อยละ 15) อันดับ 3 คือเนเธอร์แลนด์และฮ่องกง ที่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนจำนวนเท่ากัน 17 ราย (คิดเป็นร้อยละ 17) อันดับที่ 4 คือ เกาหลีใต้ จำนวน 10 ราย (คิดเป็นร้อยละ 4) และอื่นๆ จำนวน 78 ราย (คิดเป็นร้อยละ 31)
สำหรับประเภทธุรกิจที่นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุดคือ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม เช่น บริการทางบัญชี บริการให้เช่าพื้นที่และสาธารณูปโภค รับจ้างผลิตสินค้า ฯลฯ มีจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,279 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 40) รองลงมา คือ ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง เช่น นายหน้าประกันชีวิตประกันวินาศภัย ค้าปลีกเครื่องจักร เครื่องกล อะไหล่ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม ค้าส่งเคมีภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ จำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 994 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 19) อันดับ 3 ธุรกิจบริการอื่น เช่น บริการด้านคอมพิวเตอร์ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการให้คำปรึกษาแนะนำ บริการทางการเงิน ฯลฯ มีจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 456 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 14)
เมื่อทิศทางด้านสาธารณสุขเริ่มดีขึ้น เศรษฐกิจก็เริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ดูเหมือนสถานการณ์การเมืองไทยจะเริ่มกลับมาอึมครึมอีกครั้ง
จากปัจจัยรัฐสภามีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหา เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน และการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎร ทั้งสามปัจจัยเป็นเรื่องท้าทายรัฐบาล ที่ต้องบริหารสถานการณ์ให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ลดเงื่อนไขและดึงฟื้นออกจากไฟ ไม่ให้ทำลายบรรยากาศดีๆ ด้านเศรษฐกิจ