เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่พนักงานที่มีประกันสังคม ผู้ไม่สังกัดกองทุนใด สามารถออมได้และได้รับการสมทบจากรัฐ ส่วนใหญ่จึงเป็นเกษตรกร คนรากหญ้า คนที่มีการประกอบการเล็กๆ ของตนเอง กอช. ก่อตั้งขึ้นมาได้ 2 ปี มีเป้าหมายที่ 1 ล้านคน แต่ได้เพียงครึ่งเดียว หรือว่า 1) รัฐบาลไม่ให้การส่งเสริมสนับสนุนเท่าที่ควร หรือว่า 2) ยุทธวิธีในการทำงานยังไม่ลงตัวกับ “วัฒนธรรมไทย” 1) คำถามถึงรัฐบาล คือ มีความมุ่งมั่นทางการเมือง (political will) ในเรื่อง “การออม” มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้วัดกันที่แผนงาน โครงการส่งเสริมสนับสนุนอย่างที่มีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรม ที่มาจากวิธีคิดแบบ “คอนราด อะเดเนาว์” บิดาผู้ให้กำเนิดต้นแบบของแนวคิดนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของชาติเยอรมัน มีคนบอกว่า นรกส่งฮิตเลอร์มาเกิด สวรรค์ส่งอะเดเนาว์มากอบกู้บ้านเมืองที่ล่มสลาย และหนึ่งในมาตรการที่ทุกคนยังจดจำนายกรัฐมนตรีผู้นี้ คือ การออมและระบบสวัสดิการสำหรับชาวเยอรมมันทุกคน ไม่ว่าทำงานอะไรหรือไม่มีงานทำ คนเยอรมันเป็นคนมีวินัยสูงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว การออมที่เสนอโดยนายกอะเดเนาว์ยิ่งทำให้เกิดวินัย สวัสดิการและความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งขึ้น การฟื้นฟูประเทศในเวลาอันรวดเร็ว (เร็วยิ่งกว่าประเทศชนะสงคราม) ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากรากฐานการออมของผู้คนนี่เอง ประเทศไทยอาจไม่เห็นความสำคัญของการออมอย่างเป็นระบบแบบเยอรมัน เพราะเดินตามหลังอเมริกันในทุกรูปแบบ คนไทยส่วนใหญ่ไปเรียนที่อเมริกา เอาความคิดเศรษฐกิจ วิธีชีวิต และวัฒนธรรมการใช้จ่ายแบบอเมริกันมาใช้ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแผนที่ 1 เมื่อปี 2504 คนอเมริกันไม่ออม คนอเมริกันกู้เงินมาซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อทุกอย่าง คนอเมริกันใช้เงินอนาคต ใช้บัตรเครดิต วัฒนธรรมที่จะเห็นได้น้อยในเยอรมนี ที่ผู้คนไม่เอาบ้านไปค้ำเงินกู้ ไปจำนอง เอารถ เอาข้าวของไปจำนำแบบบ้านเรา ความมุ่งมั่นทางการเมืองของรัฐบาลคงไม่ดูจากคำสั่งอย่างเดียว แต่น่าดูว่า โครงการต่าง ๆ ช่วยให้ประชาชนมีเงินออมได้อย่างไรด้วย หมายถึงการส่งเสริมให้ชาวบ้าน เกษตรกร คนรากหญ้ามีรายได้เพียงพอเพื่ออยู่รอดและนำส่วนหนึ่งมาออม เพราะถ้ายังเป็นหนี้ท่วมตัวอยู่เช่นนี้ คงยากที่จะคิดเรื่องออม ปัญหาหนี้สินเกี่ยวพันกับอาชีพ รายได้ การศึกษา การเรียนรู้ของผู้คนในการจัดระเบียบชีวิตของตนเองเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินได้อย่างยั่งยืน ไม่อยู่ในวงจรอุบาทว์ของหนี้สิน เอาหนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า เอาที่หนึ่งไปใช้อีกที่หนึ่ง เป็นดินพอกหางหมู เป็นวัวพันหลักที่สุดท้ายก็รัดคอตัวเอง 2) หรือยุทธวิธีในการทำงานต้องทบทวน ควรไปศึกษาประวัติศาสตร์การออมในชุมชนตั้งแต่กรมการพัฒนาชุมชนไปส่งเสริมชาวบ้านให้ออมเสื่อ 40 กว่าปีก่อน โดยตั้ง “กลุ่มสัจจะออมทรัพย์” ซึ่งเผยแพร่ไปทั่วประเทศ แต่เหลืออยู่ไม่มาก และที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ก็ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเงินออม มีระเบียบปฏิบัติที่ชาวบ้านคิดกันขึ้นมาเอง อย่างกรณีกลุ่มออมทรัพย์ที่ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งก่อตั้งครั้งแรกในโรงเรียน ประมาณ 35 ปีก่อน โดยครูใหญ่ในขณะนั้นคือ “ครูชบ ยอดแก้ว” ท่านให้เด็กออมวันละบาท แล้วให้ครูกู้ โดยมี “ค่าธรรมเนียม” (ดอกเบี้ย) ค่อนข้างสูง นำดอกผลไปเป็นสวัสดิการให้เด็กนักเรียน สิ่งที่ครูชบทำนั้นไม่ใช่เพียงเพื่อให้เด็กมีเงินใช้ ได้สวัสดิการ แต่ท่านต้องการพัฒนาเด็กให้เป็นคนดี มีวินัย มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้อื่น รวมทั้ง “เป็นประชาธิปไตย” ท่านจึงตั้งชื่อกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อพัฒนาครบวงจรชีวิต” พระครูพิพัฒนโชติ หรือพระอาจารย์ทองของชาวบ้านที่อู่ตะเภา หาดใหญ่ ตั้ง “ธนาคารชีวิต” 30 กว่าปีก่อน โดยให้ชาวบ้านออมวันละบาท คนออมไม่ได้ดอก คนกู้เสียดอก แล้วเอาเงินนั้นไปพัฒนาชุมชน น้ำท่วมหาดใหญ่หลายปีก่อน ธนาคารชีวิต ซึ่งมีเงินออมประมาณ 10 ล้าน นำดอกผลไปช่วยเหลือสมาชิก พันคนที่ถูกน้ำท่วมคนละ 500 บาท แม้เป็นเงินไม่มาก แต่เป็นสวัสดิการที่มาจาก “น้ำใจ” และ “วินัยชีวิต” น้าลัภท์ หนูประดิษฐ ประธานสหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิวัติสหกรณ์ในประเทศไทย ท่านบอกว่า สหกรณ์ต้องอยู่ใกล้ชาวบ้าน ไม่ใช่ตั้งไว้ที่อำเภอ แล้วให้ชาวบ้านนั่งรถไปออมเดือนละ 50 บาท ซึ่งไม่มีใครไป สหกรณ์การเกษตรจึงไม่มีเงินออม มีแต่ไปกู้เงิน ธกส.มาปล่อยสมาชิก น้าลัภท์ถือคติว่า ภูเขาไม่มาหาเรา เราก็ไปหาภูเขา เขาคือคนที่จัดรถเปิดท้ายไปรับเงินออมจากชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอหาดใหญ่ เพียงไม่กี่ปี สหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่มีเงินเป็นพันล้าน (แต่ยังน้อยกว่าที่อำเภอนาหม่อม แม้ว่าเล็กกว่าหาดใหญ่มาก แต่มีเงินออมหลายพันล้านด้วยวิธีคิดนี้) บางคนอาจบอกว่า คนใต้มีเงินมากกว่าคนอีสานจึงออมได้ ต้องไปถามอาจารย์เคลื่อน นาลาด ซึ่งไปดูงานชุมชนภาคใต้แล้วไปเล่าให้ชาวบ้านที่บุรีรัมย์ฟัง เพื่อขอให้ฟื้นออมทรัพย์ที่ล้มไป ชาวบ้านบอกว่าไม่มีเงิน อาจารย์เคลื่อนก็ไปเอาตัวเลขจากคนขายหวยและร้านค้าที่ขายเหล้า รวมกันแล้วเดือนหนึ่งเป็นแสน ท่านบอกชาวบ้านว่า ไม่ได้ต้องการให้เลิกหวยเลิกเหล้า เพราะแม้แต่พระเทศน์ทุกวันยังไม่เลิก ขอสัก 10% มาออมกันได้ไหม ชาวบ้านยอม และที่สุดหมู่บ้านก็ได้เห็นเงินล้านในเวลาไม่นาน พร้อมสวัสดิการมากมาย ถ้าคิดใหม่ว่า ได้เงินมาแล้วตัดเงินที่ต้องการออมทันที ที่เหลือค่อยเอาไปจ่ายอย่างอื่น อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเข้าใจ เหมือนคนขายไอตีมซอยบ้านผมที่สงกรานต์ที่แล้วกลับไปบ้าน ไปจ่ายค่าเทอมลูกที่เรียนที่มช. เขาเล่าว่า เขาออมเงินให้ลูกตั้งแต่ลูกเกิดมา ได้มากก็ออมมาก ได้น้อยก็ออมน้อย วันที่เขาเข้ามช. มีเงินออมเพื่อทุนการศึกษาของลูก 300,000 กว่าบาท รัฐบาลสร้างกลไกที่ดีได้ ชาวบ้านก็ออมได้ ทุกคนทำได้ ถ้ามีความมุ่งมั่นจริง