แม้คณะรัฐมนตรีจะประกาศให้ 12 กุมภาพันธ์ 2564 วันตรุษจีน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประกาศให้วันหยุดตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการ ซึ่งทำให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง 3 วันคือวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ ประกอบกับการคลายล็อกกิจการและกิจกรรมต่างๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่บรรยากาศสนุกสนานเฮฮา เหมือนแต่ก่อนนั้น ก็คงยากที่จะเห็น ทำให้คาดการณ์ว่าตรุษจีนปีนี้ บรรยากาศจะยังซึมๆ อยู่ ไม่คึกคักเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะเสียงเตือนจาก พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) ที่ศบค.ขอให้เป็นมาตรการตรุษจีนปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19 ทั้งในวันจ่าย วันไหว้และวันเที่ยว ขอให้ประชาชนฉลองตรุษจีนอย่างปลอดภัย ไม่ให้เชื้อโควิดแพร่กระจาย สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ รวมถึงรับประทานอาหารแยกภาชนะกัน งดการทานร่วมกันในครอบครัว เพราะขนาดลักลอบจัดปาร์ตี้วันเกิด ของดีเจชื่อดัง ยังติดเชื้อโควิดกันไปเกือบ 30 ราย เรียกว่า เข้าตำรา “รักสนุก ทุกข์ถนัด” ขณะเดียวกันในแง่ของการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ที่เพิ่งผ่าน “วันจ่าย” มา บรรยากาศก็ค่อนข้างเงียบเหงา ดังผลวิจัยของศูนย์กสิกรไทย จำกัด ที่ออกมาคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ว่าเม็ดเงินการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 11,700 ล้านบาท หดตัวถึง 10.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนักหากเทียบกับตรุษจีนปีนี้ โดยเม็ดเงินดังกล่าวแบ่งเป็น การใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ 5,600 ล้านบาท หรือหดตัว 5.1% การใช้จ่ายท่องเที่ยว/ทำบุญ/ทานข้าวนอกบ้าน 2,900 ล้านบาท หดตัว 20.8% และการแจกเงินแต๊ะเอีย 3,200 ล้านบาท หดตัว 8.1% ผลวิจัยชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 เร่งให้คนกรุงเทพฯมีการปรับเปลี่ยน พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า หันมาสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ หรือโทร.สั่งซื้อให้ผู้ประกอบการทำการจัดส่งแทนการออกไปเลือกซื้อสินค้าเองมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย และพยายามเว้นระยะห่าง หรือหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านหากไม่จำเป็น (Social distancing) ประกอบกับการปรับกลยุทธ์การตลาดของผู้ประกอบการหลายรายที่ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทั้งผู้ประกอบการค้าปลีก Modern trade รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือรายย่อย ที่มีการขยายช่องทางการสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือโทร.สั่งและมีบริการจัดส่งถึงที่พักกันมากขึ้น ส่งผลให้ปีนี้รูปแบบของการจัดเตรียมของเซ่นไหว้มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ คนกรุงเทพฯ กว่า 34% หันมาซื้อเครื่องเซ่นไหว้ตรุษจีนผ่านช่องทางดังกล่าวกันมากขึ้นกว่าปีก่อนที่มีเพียง 11% เท่านั้น รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเตือนภาคธุรกิจให้ปรับตัวเตรียมรับสถานการณ์ โดยระบุว่าธุรกิจห้างร้าน ทั้งเล็ก กลาง และใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในวงการใดก็ตาม อาจจำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะต้องใช้เวลาไปอีก 1-1.5 ปี ที่ต้องเน้นการอยู่อย่างระแวดระวังสูง กระนั้น การผ่อนคลายมาตรการให้เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนไปได้ คู่ขนานไปกับมาตรการต่างๆที่ออกมาช่วยเหลือเยียวยา เช่น โครงการเราชนะ ในสถานการณ์เฉพาะหน้าก็หวังว่าภาคธุรกิจ และพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม จะสามารถข้ามผ่านตรุษจีนไปได้อย่างราบรื่น และปัญหาต่างๆคลี่คลายไปด้วยกัน โดยไม่เกิดการระบาดซ้ำหลังหยุดยาว “ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้” สวัสดีวันตรุษจีน ขอให้ทุกท่านประสบพอเจอแต่สิ่งที่ดี และสุขภาพดีตลอดไป