ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์ชาติในการเป็นประเทศไทย 4.0 ส่งผลไปสู่ทุกองค์กรและทุกหน่วยงานของรัฐต่างขยับที่จะเป็นองค์กร 4.0 กันทั้งนั้น นับเป็นการปลุกให้คนไทยตื่นจากวิถีชีวิตการทำงานแบบเดิมๆไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบของประเทศไทย 4.0 ที่ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันขับเคลื่อน ความใฝ่ฝันจะเป็นจริงได้มิใช่การมียุทธศาสตร์และแผนที่ชัดเจนเท่านั้น แต่จะต้องมี action plan ลุกขึ้นมาทำให้เกิดตามทิศทางที่ถูกต้อง นั่นคือต้องขับเคลื่อนด้วย “คน” ที่มี “คุณภาพ” และคงหนีไม่พ้นต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็น “คน4.0” เช่นเดียวกัน ในระดับอุดมศึกษา ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทย 4.0 เพราะมีบรรดานักวิชาการมากมาย งานวิจัยและงานสร้างสรรค์มีอยู่มาก เพียงแต่ต้องนำไปต่อยอดให้เกิดมูลค่าเชิงพาณิชย์หรือขึ้นห้าง ไม่ขึ้นหิ้งเหมือนในอดีต ซึ่งเชื่อว่าสถาบันอุดมศึกษาต่างปรับตัวกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะอัตราการเกิดของประชากรลดน้อยลง จะส่งผลให้อีก 10 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยต้องมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาในการผลิตกำลังคนทั้งในระบบและนอกระบบที่เป็นกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม บริการ สังคม และผู้สูงวัยมากขึ้น ในต่างประเทศมหาวิทยาลัยปรับตัวเองและอาจปิดตัวเอง เพราะไม่มีนักศึกษาที่จะผลิตการศึกษาด้วยระบบ e-learning จึงเป็นบทบาทใหม่ของการศึกษานอกระบบที่เป็น work force รวมถึงกลุ่มผู้เรียนทั้งโลกที่ต้องการความรู้เพื่อประกอบอาชีพหรือส่งเสริมอาชีพของตนเอง ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนเกือบ 160 แห่ง ปัจจุบันมีที่ว่างสำหรับนักศึกษาในระบบเกินกว่าจำนวนนักศึกษาเกือบ 100,000 ที่นั่ง นับวันจะมีที่ว่างมากขึ้นเรื่อยๆภายใน 10 ปี มหาวิทยาลัยที่ไม่คำนึงถึงคุณภาพและไม่คำนึงถึงอาชีพใหม่ๆตามยุทธศาสตร์ชาติอาจปิดตนเอง เพราะผู้ปกครองและนักศึกษารุ่นใหม่เขาต้องการทำงานมากกว่าปริญญาแต่ไม่มีงานทำ ข่าวการแยกตัวของอุดมศึกษาออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นกระทรวงอุดมศึกษายังไม่ตกผลึก ต่างมีข้อถกแถลงของทั้ง 2 ฝ่ายว่าแยกออกมาแล้วจะได้อะไร จะพัฒนากำลังคนได้ดีกว่าเดิมเพียงใด ยังเป็นข้อกังวลของรัฐบาลกันอยู่ แต่ฝ่ายนักวิชาการของชาวอุดมศึกษาต่างออกมาขานรับการเป็นกระทรวงอุดมศึกษา เพราะเป็นต้นน้ำของการเป็นประเทศไทย 4.0 ยังมีข้อเสนอกันอยู่ว่ามหาวิทยาลัยน่าจะสอนวิชาชีพอย่างเดียว วิชาการศึกษาทั่วไปควรให้การศึกษาขั้นพื้นฐานสร้างไว้ให้เพียงพอ พอเข้ามหาวิทยาลัย 2 ปีแรกไม่จำเป็นต้องเรียน เรียนวิชาชีพ 2 ปี ก็น่าจะเพียงพอเหมือนในประเทศจีนที่กำลังปฏิรูปในบริบทการศึกษายุค 4.0 กันอยู่ หากทำได้จะเป็นการปฏิวัติการศึกษากันทั้งยวง ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาทีเดียว ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยเราเปิดกันมากเกินความต้องการของนักศึกษา ปล่อยให้มหาวิทยาลัยเอกชนเปิดกันเกร่อ แล้วมาควบคุมคุณภาพกันภายหลัง จึงเป็นประเด็นขาดคุณภาพตามหลักการประกันคุณภาพการศึกษากันหลายมหาวิทยาลัย นับเป็นการสูญเปล่า สูญเสียทางเศรษฐกิจ และสูญเสียเวลาในการพัฒนากำลังคนของประเทศ หากเป็นกระทรวงอุดมศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยจะมีอิสระเพียงใด แล้วใช้ความเป็นอิสระให้เกิดธรรมาภิบาลได้เพียงใด และจะประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนให้เป็นทุนมนุษย์ได้เพียงใด จึงเป็นโจทย์ที่ชาวอุดมศึกษาตอ้งมีแผนและยุทธศาสตร์ให้เกิดความเชื่อมั่นแก่รัฐบาลและสังคมก่อนที่จะแยกตัวออกมา ขอเพียงแต่ไม่แยกตัวออกมาเพื่อต้องการโครงสร้างใหม่ และมุ่งหวังตำแหน่งกัน เมื่อไม่บรรลุผลสำเร็จก็นำมารวมกันอีก ย่ำเข้าย่ำออกกันเช่นนี้ คงไล่ไม่ทันเพื่อนบ้านที่เขาทุ่มพลังเป็นหนึ่งเดียว จะก้าวพ้นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปก่อนเรา