ทวี สุรฤทธิกุล
มารยาทเป็นทั้งกติกาและวัฒนธรรมอันสำคัญของสังคมมนุษย์
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ได้ชื่อว่า “เสาหลักประชาธิปไตยไทย” เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์และประคับประคองระบอบประชาธิปไตยของไทยมาตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้ช่วยให้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มั่นคงแข็งแรงและอยู่รอดมาได้ ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังได้ชื่อว่าเป็น “ปรมาจารย์” ในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงด้านการเมืองการปกครอง ที่ท่านได้แสดงทัศนะและข้อวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์ไว้อย่างมากมาย ตลอดจนได้แสดงตน “ให้เป็นแบบอย่าง” ในแบบของนักการเมืองที่ “พึงประสงค์” ในระบอบประชาธิปไตยนั้นด้วย
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เกิดมาในสังคมของชนชั้นปกครอง บิดาคือพระองค์เจ้าคำรบ(ในราชสกุลปราโมช)เป็นทั้งเชื้อพระวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ มารดาคือหมอมแดง บุนนาค เป็นลูกหลานของตระกูลข้าราชการที่มีอำนาจมากที่สุดในราชสำนัก ท่านได้ไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษตั้งแต่ชั้นมัธยม จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จึงได้ซึมซับขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของอังกฤษมามากพอสมควร ซึ่งรวมถึงทางด้านการเมือง ที่อังกฤษก็มีระบอบประชาธิปไตยแบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นต้นแบบที่คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยใน พ.ศ. 2475 ได้นำมาเป็นต้นแบบของระบอบการเมืองไทยภายหลังที่ทำรัฐประหารในวันที่ 24 มิถุนายนนั้นนั่นเอง
ตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย ท่านศึกษาอยู่ในปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ท่านเล่าว่านักศึกษาไทยที่นั่นต่างก็แสดงความดีใจกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในครั้งนั้น และโดยส่วนตัวของท่านก็ยังรู้สึกว่า “ก็ดีเหมือนกัน” เพราะท่านเบื่อ “เจ้าพวกเก่า” อันหมายถึงบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ที่มีพฤติกรรมไม่ค่อยดีนัก และรวมถึงบรรดาขุนนางผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ที่ท่านบอกว่าทำตัว “กร่าง” เสียเหลือเกิน พูดง่าย ๆ ว่าท่านเบื่อระบอบศักดินาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชที่ท่านได้เติบโตมา โดยคิดฝันว่า “ระบอบใหม่” ที่คณะราษฎรได้นำมานี้จะทำลายความน่าเบื่อเหล่านั้นให้หมดไปได้ (ฟังดูน่าจะเป็นแบบเดียวกันกับที่เยาวชนในสมัยนี้เบื่อระบอบทหาร แล้วก็พาลลุกลามไปจนถึงการเบื่อสถาบันอย่างไรอย่างนั้น)
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กลับมาจากอังกฤษใน พ.ศ. 2476 ก็ไม่ได้สนใจที่จะเล่นการเมืองอะไรมากนัก เนื่องจากคณะราษฎรปกครองในระบอบ “พรรคเดียว” และเขียนรัฐธรรมนูญไม่ให้มีพรรคการเมืองขึ้นมาเป็นคู่แข่ง และบ้านเมืองในยุคนั้นก็เป็นระเบียบเรียบร้อยดี (ก็คล้าย ๆ กับบ้านเมืองที่ปกครองโดยทหารในทุก ๆ ครั้งหลังการรัฐประหาร ที่ตราบใดที่ยังไม่มีใครมองเห็น “แผล” หรือข้อบกพร่องของคณะทหาร คนไทยก็ยังยินดีที่จะให้ทหารนั้นปกครองต่อไป) จนกระทั่งท่านได้เข้าทำงานในระบบราชการไทย โดยครั้งแรกได้ทำงานที่กระทรวงการคลัง ในตำแหน่งเลขานุการของนายเจมส์ แบกซ์เตอร์ ที่ปรึกษากระทรวงการคลังที่รัฐบาลไทยจ้างไว้ในสมัยนั้น ทำได้อยู่ 4-5 ปีก็ลาออกไปรับตำแหน่งผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ที่จังหวัดลำปาง พอดีกับที่ได้เกิดสงครามอินโดจีนและตามมาด้วยสงครามมหาเอเซียบูรพา ที่ท่านต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในทั้งสองสงครามนั้น แล้วพอสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ท่านก็ถูกเรียกตัวมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการพิมพ์ธนบัตร (ซึ่งในตอนนั้นญี่ปุ่นบังคับให้ไทยพิมพ์ธนบัตรที่มีการประทับตราค่าเงินเยนลงไปด้วย โดยให้เงินบาทไทย 1 บาท มีค่าเท่ากับ 1 เยน) โดยประสบการณ์ในช่วงนี้ได้ทำให้ท่านมองเห็น “ความไม่ดีงาม” ของคณะราษฎรในบางเรื่อง ที่กำลังจะนำมาซึ่ง “ระบอบชั่วร้าย” ในสังคมไทย
ตอนที่ท่านอยู่ที่ลำปางและถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ท่านได้ทราบว่ามีนายทหารบางคนที่ต่อมาได้เติบใหญ่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดคนหนึ่งของประเทศไทย ได้ทำธุรกิจผิดกฎหมาย คือ “ค้าไม้และค้าฝิ่น” โดยใช้อิทธิพลในกองทัพนั่นแหละคุ้มครองขบวนการธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านั้น ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงนายทหารใหญ่ในรัฐบาลที่ครองอำนาจสูงสุดอยู่ในทำเนียบในตอนนั้น แล้วพอมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้เห็นว่ามีนักการเมืองบางคนเข้ามาใช้อิทธิพล “ยุ่มย่าม” เข้าแทรกแซงในกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นด้วย ทำให้ท่านเริ่มระแวงว่าคณะราษฎรน่าจะไม่ได้ทำการปกครองบ้านเมือง “ด้วยความบริสุทธิ์ใจ” และน่าจะมีอะไรแอบแฝงอยู่อย่างน่ากลัว และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านเริ่มสนใจ “ปัญหาบ้านเมือง” อันนำตัวเองเข้าไปสู่วงการการเมืองในเวลาต่อมา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2488 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกปลดพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและถูกฟ้องว่าเป็นอาชญากรสงคราม รัฐบาลชั่วคราวในสมัยนั้นได้ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทน โดยได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นอย่างเร่งด่วน กระทั่งสามารถประกาศใช้ได้ใน พ.ศ. 2489 อันถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงฉบับแรกของไทย เพราะมีเนื้อหาที่ประกันสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ของประชาชนอย่างสมบูรณ์ รวมถึงเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองได้อย่างหลากหลาย ในช่วงนี้เองที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตัดสินใจลงเล่นการเมือง ด้วยเห็นว่าน่าจะเป็นยุคของ “ประชาธิปไตยที่พึงปรารถนา” อย่างที่ท่านได้ซึมซับมาจากที่ได้ไปอยู่ยังประเทศอังกฤษมาหลาย ๆ ปีนี้น และที่สำคัญก็คือจะได้จัดการกับปัญหาหมักหมมที่คณะราษฎรได้ก่อไว้ โดยเฉพาะ “ระบอบศักดินาใหม่” ที่พวกคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เรียกคณะราษฎรว่า “เจ้าพวกใหม่” ที่ท่านคิดว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
มาถึงวันนี้คงจะเห็นแล้วว่า รากเหง้าของความเลวร้ายที่คณะราษฎรได้เพาะพันธุ์ไว้ กำลังงอกเงยขึ้นมาในแผ่นดินไทย ทั้งนี้ที่ผู้เขียนนำเสนอเรื่องของท่านอาจารยืคึกฤทธิ์มานี้(และจะยังมีเสนออีกต่อไปสักเล็กน้อย)ก็เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่ชั่วร้ายของนักการเมืองไทยในอดีต ที่ประกอบด้วยความเชื่อความคิดที่ชั่วร้ายต่าง ๆ ต่อประเทศไทย รวมถึง “มารยาทเลว ๆ” ในทางการเมือง ที่นักการเมืองจำพวกนั้นได้ฝากรอยเท้าไว้ในสังคมไทยนี้ด้วย
เราจะได้หายสงสัยว่า ทำไมเยาวชนไทยจำนวนหนึ่งจึง “ดื้อด้าน” หรือทำอะไรที่ไม่ดีเหล่านั้น