เสือตัวที่ 6 การแก้ไขปัญหาของฝ่ายรัฐ เพื่อต่อสู้กับการก่อความแตกแยกแบ่งฝ่ายที่กระทำโดยกลุ่มคนในขบวนการแบ่งแยกการปกครองในพื้นที่ปลายด้ามขวานนั้น หน่วยงานภาครัฐได้เรียนรู้บทเรียนจากการแก้ปัญหาที่ผ่านมาบนคราบน้ำตา การสูญเสียโอกาสในการพัฒนาความเจริญ และที่สำคัญคือบทเรียนที่ผ่านมานั้นต้องแลกมาด้วยชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐตลอดจนชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ท้องถิ่นแห่งนี้ จากน้ำมือของกลุ่มคนที่มีแนวคิดล้าหลังสุดโต่งกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมรับความจริงว่า โลกได้พัฒนาไปไกลแล้ว และมันทำให้มนุษย์ต้องหันหน้ามาพึ่งพาอาศัยระหว่างกันและกัน เพื่อความเข้มแข็งและความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิมของทุกชีวิตไม่ว่าจะเลือกเชื่อในหลักการทางศาสนาหรือชาติพันธุ์ใดๆ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ได้ใช้ศักยภาพและความพยายามที่มีอยู่ทั้งมวลนำบทเรียนที่ได้รับจากความเจ็บปวดที่ผ่านๆ มา นำมาปรับปรุงแก้ไขกระบวนการในการแก้ปัญหา เพื่อต่อสู้กับคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่พยายามชี้นำความเห็นต่างให้ขยายวงกว้างออกไปจนนำไปสู่ความเกลียดชัง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนถึงขึ้นต่อเติมความคิดรุนแรงสร้างความเครียดแค้นชิงชังให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่รุ่นแล้วรุ่นเล่า เพื่อหรอกใช้คนกลุ่มนี้ให้ร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนด้วยวิธีการที่หลากหลาย แม้กระทั่งการเข่นฆ่าเอาชีวิตของคนอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไร้เหตุผลที่เป็นจริง ในการรองรับการกระทำที่รุนแรงนั้นๆ และนั่นคือบทเรียนที่ฝ่ายรัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงนำมาถอดบทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อนำมาปรับกระบวนการแก้ปัญหา เอาชนะฝ่ายนักคิด นักวางแผนของขบวนการร้ายแห่งนี้ให้ได้ตลอดมา ตลอดถึงวันนี้ ภาครัฐเห็นแล้วว่า กระบวนการแก้ปัญหาความแตกแยก รุนแรงในพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของรัฐแต่เพียงลำพัง ในทางตรงข้าม กระบวนการแก้ปัญหา เอาชนะการต่อสู้ในสมรภูมิครั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องต่อสู้ในทุกมิติ ทุกด้าน ทุกองคาพยพของรัฐและเอกชน ในการปิดช่องว่างในการต่อสู้ให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งยังต้องรุกกลับการต่อสู้ให้เหนือกว่าฝ่ายนักคิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนแห่งนี้ให้ได้ เพื่อชัยชนะทางความคิด อันจะนำไปสู่การได้รับชัยชนะในทุกมิติอย่างแท้จริง เพื่อให้ฝ่ายแกนนำขบวนการแห่งนี้ สยบยอมแม้จะไม่เต็มใจก็ตาม มิติของการต่อสู้ของรัฐนั้นมีหลากหลายด้านที่กระทำไปพร้อมๆ กัน ทั้งการรุกไล่ขยายผลทางทหาร หรือกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ที่ปรับเปลี่ยนจากการวางกำลังในฐานที่ตั้ง เพื่อป้องกันตนเอง การตั้งด่านตามท้องถนนสายรองๆ ในพื้นที่ การลาดตระเวนแสดงกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐบนท้องถนน เพื่อสกัดกั้น ป้องปรามกองกำลังติดอาวุธฝ่ายขบวนการร้ายแห่งนี้ที่พยายามในการก่อเหตุรุนแรงตลอดมานั้น ได้ให้บทเรียนกับรัฐว่า แนวทางเหล่านั้นล้วนมีจุดอ่อน และช่องว่างมากมายที่ไม่สามารถหยุดยั้งการก่อเหตุของกองกำลังติดอาวุธและแนวร่วมได้อย่างแท้จริง แถมยังเป็นเป้านิ่งให้ฝ่ายขบวนการลอบโจมตี ลอบทำร้ายเข่นฆ่าเอาชีวิตเจ้าหน้าที่รัฐตลอดมา ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องปรับมิติการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อหวังจะบังคับใช้กฎหมายของรัฐ ไปเป็นการใช้ยุทธวิธีจรยุทธ์ทางทหาร โดยเฉพาการปฏิบัติการจรยุทธ์ในเวลากลางคืน เพื่อกลับเป็นฝ่ายรุกไล่กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงให้กลับเป็นฝ่ายถูกรุกไล่ จนไม่มีโอกาสและเวลาในการรวมกลุ่ม วางแผนก่อเหตุร้ายทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์อีกต่อไป อาทิ ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ของหน่วย 4708 (จุดที่ 1) ในพื้นที่ บ.ซีเซะ ม.5 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา หน่วย 4708 (จุดที่ 2) ในพื้นที่ บ.แคละ ม.4 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา และ หน่วย 4713 ในพื้นที่ บ.กาโต๊ะ ม.7 ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา เป็นต้น โดยมีเป้าประสงค์ในการปฏิบัติในมิตินี้ เพื่อการ รปภ.พื้นที่ในเชิงรุก ให้มีความปลอดภัย และสามารถดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน จำกัดเสรีในการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้าม และควบคุมพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งเป็นการติดตามพฤติกรรมกลุ่มเครือญาติ ผู้ก่อเหตุรุนแรง ที่มีความล่อแหลมในการเป็นแนวร่วมของขบวนการร้ายแห่งนี้ ตามนโยบาย/สั่งการของ ผอ.รมน.ภาค 4 การดำเนินการแก้ปัญหาปลายด้ามขวานนั้น กระทำร่วมกับมิติการต่อสู้ในภาคประชาชนในท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการต่อสู้ร่วมกับภาครัฐ เพื่อร่วมกันนำสันติสุขกลับคืนมาในพื้นที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเองด้วยคนในพื้นทีท้องถิ่นเอง อันเป็นการป้องกัน แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วยมือของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่รู้ตื้นลึก หนาบางต่อปัญหาและคนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่มากกว่าคนของรัฐหลายเท่า ให้เข้ามาร่วมโครงการราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) อาทิ การฟื้นฟูโครงการสร้างการมีส่วนร่วมปกป้องท้องถิ่นตนเอง โดยการฝึกทบทวนโครงการราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ประจำปีงบประมาณ 2564 มีทั้งหมด 26 รุ่น จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 ในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งมียอดผู้เข้ารับการฝึกรุ่นละจำนวน 120 คน โดยมี วัตถุประสงค์ในการฝึกหลักๆ คือ การป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเป้าหมาย และในการแก้ไขปัญหากรณีถูกรอบทำร้าย การรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านของตนเอง รวมทั้งความสำนึกในหน้าที่ของการเป็นราษฎรรักษาหมู่บ้านเสริมสร้าง วินัย ความซื่อสัตย์ สุจริต เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน รู้จักเคารพสิทธิผู้อื่น สร้างความคุ้นเคยและให้ปฏิบัติงานร่วมกันได้ซึ่งจะก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ และเหนือสิ่งอื่นใด จะเป็นการแสดงออกถึงความจงรัก ภักดี และความหวงแหนในสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงออกถึงพลังในความสามัคคีของประชาชนในพื้นที่และยึดมั่น สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามพระราชเสาวนีย์แม่ของแผ่นดิน สมเด็จพระนางเจ้าของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนการแก้ปัญหาแทรกซ้อนที่มาเกื้อหนุนกับปัญหาการแบ่งแยกดินแดน อาทิ การแก้ปัญหายาเสพติด ที่แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เปิดกิจกรรมเปิดค่ายคืนคนดีสู่สังคม เพื่อมุ่งหวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติด โดยสอดแทรกความมุ่งประสงค์ในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ปัญหาและพัฒนาคนและชุมชนในพื้นที่ในมิติอื่นๆ ต่อไป เหล่านี้คือตัวอย่างพียงบางส่วนที่รัฐ ใช้ความพยายามทุกรูปแบบในการต่อสู้ทุกมิติ เพื่อเอาชนะภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติในพื้นที่ปลายด้ามขวานให้กลับคืนมาสู่สันติสุขอย่างแท้จริงในที่สุด