ทีมข่าวคิดลึก แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือแม่น้ำสายใดสายหนึ่งในมือ คสช. อยู่บ้างก็ตาม ทั้งปมประเด็นที่ว่าด้วยการสืบทอดอำนาจโดยผ่านกลไกในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติหรือการใช้อำนาจเพื่อรุกไล่กับฝ่ายตรงข้าม ก็ตาม ทว่าในความเป็นจริงแล้วต้องยอมรับว่า คลื่นลมทางการเมืองในบ้านเรา หลังผ่านพ้นการทำประชามติเมื่อวันที่ 7ส.ค.เป็นต้นมากลับไม่ได้เข้มข้น ขึ้งเคียดตามที่ได้เคยมีบางฝ่ายประเมินสถานการณ์กันเอาไว้แต่อย่างใดไม่ว่าผลจากการลงประชามติ จะเป็นที่พอใจกันหรือไม่ก็ตาม แต่วันนี้หลายคนย่อมรู้ดีว่าไม่ใช่เวลาที่"นักการเมือง" จะออกมาโลดแล่น สิ่งที่น่าเป็นกังวลวันนี้ ย่อมไม่ใช่ประเด็นที่ว่า คสช. จะสืบทอดอำนาจหรือไม่ และอย่างไรเท่านั้น หรือ "ใคร" จะมาเป็น"ตาอยู่" คว้าพุงปลา ด้วยการเข้ามานั่ง "นายกรัฐมนตรีคนที่ 30"หากแต่กลับเป็นประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องปากท้องของคนในประเทศแทบทุกกลุ่ม ทุกระดับ ซึ่งทุกฝ่ายต่างเฝ้ารอให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว การเรียกร้อง และกดดันให้รัฐบาลของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. หาทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนั้น มีแนวโน้มว่าจะดังมากขึ้นทุกขณะ ทั้งนี้ฟากรัฐบาลและคสช. เองก็ย่อมประเมินภาพรวมได้อย่างไม่ยากเย็นเช่นกัน เมื่อคลื่นลมทางการเมืองอยู่ในสภาวะที่นิ่งมากพอ ไม่มีกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนเหมือนที่เคย ขณะเดียวกันผลการสำรวจจากโพลสำนักต่างๆ ได้ชี้ว่า "ความนิยม" ที่ประชาชนมีต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ นั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศของคสช. ก็ดูจะเป็น "จุดแข็ง" ที่ทำให้รัฐบาล ได้มีโอกาสขยับขับเคลื่อนเดินต่อไปข้างหน้าได้ราบรื่นมากที่สุด ! แนวรบที่ คสช. ต้องเทความสนใจจากนี้เมื่อเข้าสู่วาระครบรอบ 2 ปีของรัฐบาล และกำลังก้าวเข้าสู่การบริหารประเทศในปีที่ 3 นอกเหนือไปจากการรักษาความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจแล้วยังต้องไม่ลืมว่าการบริหารจัดการ"อำนาจ" ของรัฐบาล ย่อมถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการจี้ให้ "รัฐราชการ" ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ ที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนนโยบายและงบประมาณได้ขยับไปข้างหน้าตามเป้าหมายของคสช. เพื่อเร่ง "สร้างผลงาน" คือเรื่องหลักและมีความสำคัญอย่างมาก การที่ทั้งพล.อ.ประยุทธ์และคสช. ยืนยันว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ ทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแมป ที่คสช.วางเอาไว้เท่านั้นนั่นคือการมุ่งสู่การเลือกตั้ง ในราวปลายปี 2560 จากนั้นจึงจะส่งมอบภารกิจให้แก่ "รัฐบาลใหม่" ที่จะมาจากการเลือกตั้ง ทว่าสิ่งที่คสช.และพล.อ.ประยุทธ์ อาจมองข้ามไปว่าการกำหนดโรดแมป วางกรอบเวลาว่าจะอยู่หรือไปเช่นนี้แล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาการทำงานเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลตามมาและดูเหมือนว่าสภาพการณ์ดังกล่าวเช่นนี้บรรดารัฐมนตรีหลายคนใน ครม. ต่างเผชิญอยู่เช่นกัน !