ทองแถม นาถจำนง
นักวิชาการการศึกษาไทยนั้นมาจากหลายสำนักคิด ใครได้เป็นใหญ่คุมนโยบาย ก็มักจะเลือกใช้แนวทางของสำนักคิดที่ตนร่ำเรียนมา แล้วถ้าเผื่อว่าเป่าหูรัฐมนตรีได้สำเร็จ นโยบายการบริหารการศึกษาก็จะเปลี่ยน
แต่ที่ต้องเตือนคือ มันเปลี่ยนกันบ่อยเกินไป นี่ก็เห็นว่าจะกลับไปใช้ระบบเอนทรานส์แบบเดิมอีกแล้ว ข้าพเจ้าลืมไปแล้วว่า ตอนที่จะเปลี่ยนระบบเอนทรานส์นั้น ท่านผู้รู้อ้างเหตุผลอะไร ? จริงอยู่ ที่ระบบสอบเอนทรานส์นั้นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งในระบบจัดการศึกษา แต่การเปลี่ยนกลับไปกลับมาบ่อย มันก็สะท้อนปัญหาของระบบใหญ่ด้วยเช่นกัน การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกสังคม เป็นปัจจัยแก้ปัญหาสังคมทั้งหลายแหล่ ฯลฯ แต่ “การศึกษา” จะบรรลุผลสำเร็จตามที่คาดหวังไว้นั้นหรือไม่ ยังขึ้นกับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง อย่างหนึ่งคือ “การจัดการศึกษา”
ระบบการศึกษาไทยนั้น พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนทางด่วนซุปเปอร์ไฮเวย์ คือถ้าขับขึ้นไปแล้ว ต้องมุ่งไปสู่จุดเดียว คือเอาใบปริญญา
การศึกษาควรเหมือนถนนที่มีทางแยกออกมาก ๆ คือมีทางเลือกในการศึกษาหลายทาง
ไม่ใช่จะต้องบ้าปริญญาทางเดียว
เรื่องนี้ท่านเขียนไว้ใน “สยามรัฐหน้า ๕” ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2515 ดังนี้
“การศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมที่กำลังพัฒนานั้น เห็นจะเป็นความจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ ปัญหาในทางเศรษฐกิจและในทางสังคมของประเทศไทยซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันนั้น ถ้าจะพิจารณาย้อนกลับไปดูถึงต้นเหตุที่แท้จริงแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่าปัญหานั้นเกิดจากการศึกษา หรือการขาดการศึกษาของผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับปัญหานั้นทั้งสิ้น
ปัญหาเรื่องเกษตรกรในเมืองไทยถูกพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบนั้น เป็นปัญหาซึ่งพูดกันบ่อย ๆ และถึงแม้ว่าจะได้พูดกันมามากแล้วเพียงใด ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดแก้ปัญหานั้นได้อย่างแท้จริง
เหตุที่ทำให้พ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรได้นั้นก็อยู่ที่ว่า การศึกษาของพ่อค้าคนกลาง และการศึกษาของเกษตรกรอยู่ในระดับที่แตกต่างห่างกันไกล
คนมีความรู้มากย่อมจะเอาเปรียบคนที่มีความรู้น้อยได้เสมอ
การส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกันตั้งสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรขึ้น เพื่อเป็นการร่วมกำลังกันต่อรองกับพ่อค้าคนกลางนั้นเป็นความคิดที่ถูกเป็นทางที่จะแก้ปัญหานั้นได้แต่ก่อนที่จะใช้ทางนี้แก้ เราก็จะต้องคำนึงถึงการศึกษาของเกษตรกรอีกเช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าเกษตรกรมีการศึกษาไม่อยู่ในระดับที่สูงพอสมควรแล้ว การดำเนินกิจการของสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรก็จะเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากและไม่บังเกิดผลตามที่ควร เหตุแห่งปัญหาก็มาลงอยู่ที่การศึกษาอีก อนาคตของคนนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับปริญญาบัตรแผ่นเดียว ถูกแล้วครับ พูดเท่าไรอีก ก็ถูกอีก
แต่ระบบการศึกษาของเมืองไทยในขณะนี้ก็เป็นไปในทางที่จะผลิตแต่ผู้มีปริญญาเท่านั้นไม่คำนึงถึงการผลิตเกษตรกรผู้มีการศึกษา คนงานอุตสาหกรรมผู้มีการศึกษา หรือราษฎรธรรมดาสามัญผู้มีการศึกษาเลย พูดอย่างง่ายที่สุดและตรงที่สุดก็คือ มหาวิทยาลัยทุกแห่งในเมืองไทยขณะนี้ มุ่งหน้าแต่จะผลิตข้าราชการหรือผู้ที่จะออกมามีอำนาจเหนือราษฎรไทยเท่านั้น ระบบการศึกษาของเมืองไทยตั้งแต่ประถมต้นขึ้นมานั้น เปรียบเสมือนทางหลวงซูเปอร์ไฮเวย์ชั้นที่หนึ่งซึ่งตัดตรงไปยังจุดเดียวเท่านั้น ถึงแม้ว่าทางหลวงนั้นจะเป็นระยะไกลก็ไม่มีทางแยกไปที่ใดในระหว่างทางเลย
เพราะฉะนั้นผู้ใดที่หลุดเข้าไปในทางหลวงนี้แล้ว ถ้าไม่ตกถนนตายไปเสียก่อน ก็จะต้องไปถึงจุดที่หมายปลายทางอันเดียวกันเท่านั้น คือการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยและปริญญา
เด็กที่เข้าเรียนชั้นประถมต้นทุกคนจะต้องมีการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยและปริญญาเป็นจุดหมายปลายทาง ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับตนจึงจะแลเห็นความจริงขั้นปรมัตถ์ว่า อนาคตของคนนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับปริญญาบัตร ซึ่งเป็นกระดาแผ่นเดียวเท่านั้น
ความจริงเกี่ยวกับการศึกษาของเมืองไทยนั้น ในระยะนี้ก็ดูเหมือนท่านที่รับผิดชอบในการศึกษาของชาติจะทราบอยู่เหมือนกัน สังเกตได้จากความพยายามที่จะส่งเสริมการศึกษาประเภทอาชีวศึกษาและฝึกอาชีพต่าง ๆ แต่การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาเพื่อจะผลิตเกษตรกรที่มีการศึกษาให้ได้เป็นจำนวนมากนั้น ดูเหมือนจะยังไม่มีใครคิดหรือยังไม่มีใครทำ
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์แห่งการศึกษาตามที่ควรจะเป็นนั้น ยังไม่มีผู้ใดเข้าใจจะแจ้ง คนยังคงเข้าเรียนหนังสือกันด้วยวัตถุประสงค์เดิม เพื่อจะได้รับปริญญา เข้ารับราชการในตำแหน่งสูง ๆ เป็นเจ้าคนนายคนต่อไปปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองไทยนั้น เมื่อรวบยอดแล้วก็มาลงอยู่ที่การศึกษาเท่านั้นแหละครับ”