ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติไวรัส โควิด-19 ระบาดมาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว และไม่อาจคาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ปะทุรอบใหม่นี้จะสงบราบคาบลงเมื่อใด กระนั้น ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประมวลเรื่องราวที่น่าสนใจเอาไว้ 21 เรื่อง ที่ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงเราๆท่านๆ จะได้นำมาทบทวนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสมรณะนี้ต่อไป ดังนี้ โควิด-19 1 ปี ผ่านไปเราวิ่งมาราธอนมาถึงครึ่งทางแล้ว เราน่าจะผ่านจุดสูงสุด และกำลังวิ่งในครึ่งทางหลัง ใน 1 ปี ที่ผ่านมาสรุปได้ว่า 1. โควิด-19 เป็น โรคระบาดที่รุนแรง และกว้างขวางทั่วโลกในรอบ 100 ปี นับจากไข้หวัดใหญ่สเปน 2. โรคได้ระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก พบในทุกประเทศเริ่มจากอู่ฮั่น 3. ทางตะวันตก ระบาดมากกว่าทางตะวันออก ทั้งนี้เพราะทางตะวันออก น่าจะกลัวตาย มากกว่าทางตะวันตก มีการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด 4. ไม่ว่าจะปิดประเทศหรือไม่เปิดประเทศ เศรษฐกิจตกต่ำกันถ้วนหน้า การเดินทางระหว่างกันและกันลดลง 5. ความรุนแรงของโรค จะพบในผู้สูงอายุ และมีปัจจัยเสี่ยงในเด็ก ความรุนแรงน้อยกว่าผุ้ใหญ่ และผู้สูงอายุ 6. อัตราตายโดยเฉลี่ยประมาณ 2% หรือน้อยกว่า หลังจากที่ทั่วโรคมีรายงาน 100 ล้านคน เชื่อว่ามีผู้ป่วยอาการน้อย หรือไม่มีอาการตกสำรวจ จำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต 2.1 ล้านคน 7. ประมาณหนึ่งในสาม การติดเชื้อเป็นแบบไม่มีอาการ จึงยากต่อการควบคุมโรค 8. วิถีชีวิตใหม่ (new normal) ได้มีแนวทางปฏิบัติจนคุ้นเคย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กำหนดระยะห่าง 9. ผลของวิถีชีวิตใหม่ ทำให้โรคระบบทางเดินหายใจลดลงอย่างมาก 10. เราเริ่มเห็นแสงในการควบคุม หลังจากการพัฒนาวัคซีน และนำไปใช้ได้จริง โดยเริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม จนปัจจุบัน มีการฉีดวัคซีนแล้ว กว่า 60 ล้านโดส 11. ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ ต่อจำนวนประชากรมากที่สุด (1 ใน 3 ของประเทศ) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 ใน 4 ของประชากร ใช้วัคซีนเชื้อตายของจีน Shinopham 12. ประสิทธิผลการป้องกันโรคในอิสราเอล เริ่มเห็นผล ในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ที่ได้รับวัคซีน มีป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่า ผู้ไม่ได้รับวัคซีนถึงร้อยละ 60 13. แสดงว่าวัคซีนลดการป่วยที่รุนแรง อย่างน้อยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิต และเชื่อว่าวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ก็เช่นเดียวกัน สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ 14. การลดการระบาดโควิด-19 ได้ ประชากรอย่างน้อยร้อยละ 60 ต้องมีภูมิต้านทานกลุ่ม (herd immunity) ภูมิคุ้มกันกลุ่มคิดจากสมการ 1-1/Ro Ro คืออำนาจการกระจายโรค ที่มีการคำนวณไว้แล้ว อยู่ระหว่าง 2-3 ภูมิคุ้มกันกลุ่มจึงเท่ากับ 1-1/3 15. เด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ขณะนี้ยังไม่ให้วัคซีน เพราะยังไม่มีการศึกษาในเด็กกลุ่มดังกล่าว และการติดโรคในเด็ก มีอาการน้อย 16. สตรีตั้งครรภ์ วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ ยังไม่แนะนำให้ เว้นเสียแต่ถ้ามีการระบาดมาก หรือสตรีนั้นมีความเสี่ยงสูงก็ให้ชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบผลได้และผลเสีย และให้ข้อมูลให้ผู้รับวัคซีนตัดสินใจ 17. การให้วัคซีน พร้อมวัคซีนอื่น โดยหลักการน่าจะให้ได้ แต่วัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่ เมื่อเกิดการแทรกซ้อนจะไม่ทราบว่าเกิดจากวัคซีนอะไร จึงแนะนำให้วัคซีนนี้ห่างจากวัคซีนอื่นอย่างน้อย 14 วัน 18. วัคซีนโควิด-19 จะให้ 2 ครั้ง ยกเว้นในอนาคตอาจมีวัคซีนให้เพียงครั้งเดียว หรือ 3 ครั้ง ชนิดของวัคซีนที่ให้ควรเป็นวัคซีนยี่ห้อเดียวกันทั้ง 2 เข็ม ไม่ควรสลับยี่ห้อของวัคซีน จนกว่าจะได้มีการศึกษาแล้ว 19. ถ้าป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ผู้ที่เป็นโควิด-19 แล้วยังมีข้อมูลยังไม่มากพอ และพบว่าผู้ที่มีอาการน้อย ภูมิต้านทานต่ำ และตรวจไม่ได้หลัง 6 เดือน ถ้าจะให้วัคซีน จะต้องให้หายป่วยและพ้นการกักตัวแล้ว ส่วนมาก หลังหายจากโรคโควิด-19 ใน 3 เดือนแรก โอกาสจะเป็นโรค เป็นแล้วเป็นอีกเกิดขึ้นได้น้อยมาก การให้วัคซีนในผู้ที่เป็นโรคมาแล้ว ผู้ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ การให้วัคซีนในกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหา หรือข้อห้าม และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจภูมิต้านทานก่อนฉีดแต่อย่างใด และการให้วัคซีนในผู้ที่เคยเป็นโรคมาแล้ว ไม่มีอันตรายเพิ่มขึ้น แต่อย่างใด 20. เมื่อให้วัคซีนแล้วมีโอกาส ติดเชื้อหรือเป็นโรคได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่มีวัคซีน ไหนที่ป้องกันได้ 100% เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว จึงมีโอกาสติดโรค และอาจป่วยได้ หลักฐานปัจจุบันเชื่อว่าวัคซีนทำให้อาการป่วยน้อยลง 21. ฉีดวัคซีนแล้วคงจะต้องปฏิบัติตนแบบวิถีชีวิตใหม่ จนกว่าประชากรส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดมีภูมิต้านทาน และไม่มีการระบาดของโรค ดังนั้นจึงยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และกำหนดระยะห่างของบุคคล และสังคมต่อไป