ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ณ วันที่ 26 มกราคม 2564 ระบุสถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อโควิดสะสมแตะร้อยล้าน โดยมียอดสะสม 100,280,252 ราย และเสียชีวิตสะสม 2,149,387 ราย
ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า นับตั้งแต่การพบผู้ติดเชื้อรายแรกที่จีนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม2562 จนถึงวันที่ 26 มกราคม 2564 รวม 391 วัน จะเห็นว่าผู้ติดเชื้อในช่วงหลังเพิ่มรวดเร็วขึ้น เห็นได้จากการขยับตัวเลขผู้ติดเชื้อจาก 20 ล้านรายไปถึง 40 ล้าน รายใช้เวลามากกว่า 2 เดือน แต่จากผู้ติดเชื้อรายที่ 60 ล้าน ไปถึง 80 ล้านใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 1 เดือน และในปัจจุบันจะพบผู้ติดเชื้อถึง 10 ล้านคน ในทุก 16 วัน
ด้านสถานการณ์ประเทศไทย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านเพจเฟซบุ๊กตอนหนึ่งถึงฉากที่เราอาจเผชิญได้ในอนาคตและควรพิจารณาวางแผนจัดการล่วงหน้าว่า
“1. พลุใหญ่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขตเมือง และเขตอุตสาหกรรม หากไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้
2. ภูมิศาสตร์การระบาดของโรค หรือ epidemic geography ของประเทศจะเปลี่ยนไปในระยะยาว เนื่องจากจะมีการติดเชื้อรายวันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ จากการที่ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ หากพื้นที่ใดติดเชื้อบ่อยหรือมาก อาจได้รับการตีตราเป็นแดนดงโรคหรือพื้นที่เสี่ยง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย และระบบธุรกิจอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในระยะยาวได้
3. การระบาดซ้ำซากอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะที่ระลอกสองถูกกดลงในระดับหลักหน่วยหรือหลักสิบหรือหลักร้อย โดยระยะเวลาและความรุนแรงจะแปรผันตามระดับที่กดได้”
รศ.นพ.ธีระ ยังระบุแนวทางการเตรียมรับมือ
“1. ขยายระบบบริการตรวจโควิดให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะตรวจประชากรได้อย่างน้อย 2 ครั้งต่อคนต่อปี
2. ปฏิรูปรูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ ท่องเที่ยว อาหาร และสถานบันเทิง ให้เน้นความปลอดภัยอย่างถาวร เพราะศึกนี้มีแนวโน้มจะต้องสู้ระยะยาว
3. รูปแบบการทำงานในสถานที่ทำงานทุกประเภท จำเป็นต้องขันน็อตเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สถานพยาบาล” ทุกแห่ง การตรวจคัดกรองโรคจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลและก่อนผ่าตัด
4. ประชาชนควรตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหา และวางแผนการใช้ชีวิต การทำงาน และการจัดการการเงินให้ดี จำเป็นต้องประหยัดเท่าที่สามารถจะทำได้ ที่สำคัญที่สุดคือ ป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ใส่หน้ากากเสมอ ไม่ตะลอนโดยไม่จำเป็น อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ล้างมือทุกครั้งที่จับสิ่งของสาธารณะ ไม่กินดื่มในร้าน ซื้อกลับบ้านดีที่สุด ลดละเลี่ยงงานกิจกรรมสังคมที่มีคนเยอะๆ และคอยสังเกตอาการตนเองและสมาชิกในครอบครัว หากไม่สบาย ต้องหยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจรักษา”
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า แม้แนวโน้มหลายจังหวัดจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการ แต่ประชาชนยังคงต้องตั้งการ์ดสูงเหมือนเดิม เพื่อความปลอดภัย และคาดหวังว่าการผ่อนคลายมาตรการต่างๆจะดำเนินการไปอย่างรัดกุม รอบคอบ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว