มีข่าวว่าธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯนั้น ก่อผลสะเทือนต่อวงการการเงินโลกอย่างแน่นอน แต่บางเสียงก็วิจารณ์ว่า เฟดประกาศไปเลยว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อไหร่ ? เท่าไหร่ ? จะดีกว่า เพราะจะช่วยไม่ให้วงการการเงินโลกผันผวนมาก เพราะความไม่แน่นอน เรื่องอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นจะลง นักวิชาการเขามักอ้างเรื่อง “เงินเฟ้อ” แล้วเงินเฟ้อมันคืออะไร?เงินเฟ้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่บ่อเกิดของเงินเฟ้อที่คนมักจะพูดถึงมากที่สุดคือ เงินเฟ้อที่เกิดจาก ปัจจัยด้านอุปทานDemand ที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศเราหลายครั้งมีต้นตอมาจากต่างประเทศ เช่น ราคาน้ำมันแพง สาเหตุของภาวะเงินเฟ้ออีกด้านหนึ่ง ซึ่งผู้คนไม่ค่อยคิดถึงคือ (1) เงินเฟ้อจากการคาดการณ์ เช่น ถ้าคนคิดว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้บริโภคก็จะรีบใช้จ่าย ผู้ผลิตก็จะชิงขึ้นราคา แรงงานก็จะกดดันให้ขึ้นค่าจ้าง ทำให้เงินเฟ้อที่เคยเป็นเพียงการคาดการณ์ กลายเป็นเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงในที่สุด (2) เงินเฟ้อจากความต้องการซื้อที่มากกว่าความสามารถในการผลิต เช่น ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำ กุ้ง เศรษฐกิจไทยขยายตัวรวดเร็ว ผู้คนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นและต้องการจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าพ่อค้าแม่ค้าจะขึ้นราคาสินค้าเพียงใดก็ยังขายได้ ราคาสินค้าจึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อประเภทนี้ แม้จะไม่รุนแรง แต่จะค่อยๆ กัดกร่อนเงินในกระเป๋าของประชาชนโดยไม่รู้ตัว เพิ่มต้นทุนการกินการใช้และเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวโดยไม่จำเป็น เพราะผู้ให้กู้เงินย่อมต้องการความมั่นใจว่า เงินที่จะได้รับคืนมาในอนาคตจะยังจับจ่ายใช้สอยซื้อของได้ไม่น้อยกว่าถ้าใช้เงินตั้งแต่วันนี้ จึงต้องคิดดอกเบี้ยให้สูงกว่าเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในอดีตเงินเฟ้อของไทยที่เกิดจากการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้คนและความต้องการซื้อที่มากเกินไปคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 70 ซึ่งหมายความว่าการดูแลเงินเฟ้อผ่านการควบคุมปัจจัยทั้งสองมีความสำคัญมาก ไม่แพ้การดูแลเงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปทานซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 – 40 ทั้งนี้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเงินเฟ้อในส่วนแรกคือธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านการดำเนินนโยบายการเงินที่ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) เพราะการมีเป้าหมายที่จะรักษาเงินเฟ้อให้ประชาชนไว้อ้างอิงคือการประกาศความมุ่งมั่นที่จะรักษาวินัยทางการเงินและต่อสู้กับเงินเฟ้อ ส่วนการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณความมุ่งมั่นนั้นอย่างต่อเนื่อง และช่วยชี้นำการวางแผนใช้จ่ายและลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เมื่อคนเชื่อมั่นในธนาคารกลาง ในระยะยาวการคาดการณ์ก็จะไม่ปรับเปลี่ยน ความหนืดของเงินเฟ้อก็จะไม่สูงขึ้น กล่าวคือ เงินเฟ้อส่วนที่น่ากลัวก็จะไม่ตามมา แม้เงินเฟ้อจะเกิดจากหลายสาเหตุ โดยที่บางสาเหตุ เช่น ปัจจัยด้านอุปทาน เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางควบคุมไม่ได้ แต่เงินเฟ้อที่เกิดจากการคาดการณ์ของผู้คน และความต้องการซื้อที่มากเกินควรนั้นเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางสามารถดูแลได้และมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นส่วนที่จะกำหนดว่าเงินเฟ้อของประเทศจะเป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานจนกัดกร่อนความกินดีอยู่ดีของประชาชน เน้นอีกครั้งว่าปัจจัยด้านอุปทานนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยควบคุมไม่ได้ ธปท.มีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นเพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อจากการคาดการณ์