ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
หลายหน่วยงานภาครัฐที่ลงไปทำงานในพื้นที่ แม้จะมีการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนา” แต่ในทางปฏิบัติจริง ทำกันได้มากน้อยแค่ไหนประเด็นนี้ประชาชนในพื้นที่สามารถตอบคำถามได้ดี โดยรูปธรรมการตอบรับของประชาชนในพื้นที่ ดูได้จากดัชนี “ความร่วมมือหรือไม่ให้ความร่วมมือ”
ก่อนหน้าในปี พ.ศ. 2554 องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทที่อาจถูกมองอย่างไม่ให้ความสำคัญจากภาครัฐ แต่เมื่อการทำงานขององค์กรเหล่านี้เปรียบเทียบกับหน่วยงานภาครัฐ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของระดับนโยบายรัฐจึงต้องถือเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้า
ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทขององค์กรภาคประชาสังคม มีเป้าหมายสุดท้ายปลายทางคือการสร้างสันติสุขท่ามกลางความเป็นพหุวัฒนธรรมของพื้นที่ ไม่ว่ากิจกรรมของพวกเขาเหล่านั้นจะดำเนินในมิติใด ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมอาชีพ การส่งเสริมพลังของชุมชน การดำรงรักษาอัตลักษณ์ในมิติวัฒนธรรม สื่อเพื่อสันติภาพ
แต่กระนั้นการจะขยายบทบาทขององค์กรประชาสังคมให้ครอบคลุมเป็นพลังต่อรองเพื่อไปสู่เป้าหมายก็ยังมีข้อจำกัดในการขยายฐานอาทิ การเพิ่มฐานสมาชิกที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทุนสนับสนุน การสร้างเชื่อมองค์กรให้เป็นพลังเครือข่าย
ดังนั้นการที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(คปต.) ซึ่งรับผิดชอบภารกิจที่ 7 ของ คปต.คือ งานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี กับ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกันขับเคลื่อน การนำพลังภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นกลไกเคลื่อนงานสร้างสันติภาพจึงต้องถือเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ โมเดลใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในการทำงานระดับนโยบายรัฐ
“โครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้”นำร่องด้วยงบประมาณ 50 ล้านบาท ที่จะจัดสรรให้กับองค์กรภาคประชาสังคมที่เสนอโครงการเข้ามาขอสนับสนุนการทำงาน
“ความเห็นต่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกคนล้วนมีความปรารถนาดีในการพัฒนาพื้นที่ แม้จะมีความเห็นต่างในทิศทางและแนวทางก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะความเห็นต่างนำไปสู่การพัฒนาที่ดีกว่า เสรีภาพในการคิด พูดที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนจะทำให้เกิดการพัฒนา ซึ่งภาพรวมเป้าหมายของภาคประชาสังคมในการเคลื่อนไหวก็เพื่อให้สังคมเกิดความมั่งคั่ง ยั่งยืน ดังนั้นการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องนี้ จะทำให้ภาคประชาสังคมสามารถขับเคลื่อนได้มากกว่าเดิม” พล.อ.อุดมชัยกล่าว
พล.อ.อุดมชัย กล่าวว่า การสนับสนุนที่ให้ภาคประชาสังคมเคลื่อนตัว เพื่อให้ยุทธศาสตร์ทั้งระดับชุมชน ท้องถิ่น เดินไปตามเป้าหมายสู่ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งองค์ประกอบจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โปร่งใส ตรวจสอบได้
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ กล่าวว่า โครงการจะดำเนินการระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2560 ในวงเงิน 50,000-250,000 บาทต่อองค์กร ซึ่งมีองค์กรประชาสังคมให้ความสนใจเบื้องต้นถึง 420 องค์กร
นายไกรศร กล่าวว่า กรอบการทำงานสำหรับองค์กรภาคประชาชนที่ต้องการของบสนับสนุนงบประมาณจำแนกเป็น งานการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน งานอำนวยความยุติธรรม งานการสร้างความเข้าใจทั้งในและนอกพื้นที่และต่างประเทศ งานการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม งานการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ และคุณภาพชีวิตของประชาชน งานการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี งานการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน การขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2560-2562 งานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และ งานพัฒนาสร้างศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคม
ตัวเลของค์กรที่สนใจเข้าร่วม 420 องค์กรสะท้อนว่า โครงการฯนี้ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ เพราะรัฐอยู่ในบทบาทแค่ผู้สนับสนุน ขณะที่องค์กรประชาสังคมคือผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยตนเอง
คำกล่าวของ พล.อ.อุดมชัย ต่อที่ประชุมเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า “อีก 5 ปี เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่” จึงเป็นเป้าหมายที่รอการพิสูจน์
สิ่งที่ต้องติดตามกันก็คือ ความต่อเนื่องของแนวทางนี้จะมีโรดแมปให้เดินกันไปจนถึงเป้าหมายหรือไม่ แน่นอนว่า การริเริ่มโครงการในลักษณะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ผู้ริเริ่มอย่าง พล.อ.อุดมชัยและคนขับเคลื่อนอย่าง นายไกศร ก็ต้องทำงานหนักและถือเป็นเดิมพันที่จะต้องให้การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้เปลี่ยนกันทั้งโครงสร้างการทำงานของระบบราชการ เช่นเดียวกับองค์กรภาคประชาสังคมก็ต้องพิสูจน์ตนเองเช่นกันว่า พวกเขาคือพลังการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
โปรย- “ความเห็นต่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกคนล้วนมีความปรารถนาดีในการพัฒนาพื้นที่”