“แจ๊ค หม่า” ผู้บริหารอาลีบาบา แสดงความเห็นว่า ไทยมีศักยภาพทางด้านการเกษตรมาก แต่มิได้รับการส่งเสริม และยังกล่าวถึงเกษตรกรไทยว่า แม้จะใช้คอมพิวเตอร์ CP ไม่เป็น แต่เดี๋ยวนี้เกษตรกรก็รู้จักใช้โทรศัพท์มือถือกันมากแล้ว โทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟนก็ราคาไม่สูงนัก มันสามารถนำมาใช้ ช่วยให้เกษตรกรทำธุรกิจสร้างรายได้ให้มากขึ้น เรื่องทำนองนี้ราชการไทยคิดกันบ้างหรือไม่ ? “รัฐ” จะช่วยให้พลเมืองเข้าถึงระบบไอที ใช้อินเตอร์เน็ตได้สะดวก และประหยัดขึ้นได้อย่างไร ? แผนการปฏิรูป ไอที ของประเทศไทย อย่าให้กลายเป็นเรื่อง “เพิ่มกำไรให้บริษัทอินเตอร์เน็ต” ด้านเดียว ต้องคิดในแง่การ “บริการ” ประชาชน สร้างโอกาสที่ทัดเทียมสำหรับประชาชนทั้งมวลด้วย สังคมไทยจะก้าวหน้าเป็น “ดิจิตอล อีโคโนมี” Digital Economy แท้จริงหรือไม่ ? มิได้ชี้ขาดอยู่ที่ความเร็วอินเตอร์เน็ต 4G หรือ 100 G หากชี้ขาดอยู่ที่ระดับคุณภาพ “ความคิด” ของพลเมืองไทย ความสำเร็จของการสร้าง “ดิจิตอล อีโคโนมี” มิได้อยู่ที่การสอนคนสูงวัยให้รู้จักใช้เครื่องมือทันสมัยทาง ICT อย่างที่ทำเป็นข่าวสารคดีโฆษณากันอยู่ ความสำเร็จของการสร้าง “ดิจิตอล อีโคโนมี” มิได้ชี้ขาดอยู่ที่เกิดการซื้อขายสินค้าประเภทขายปลีกเติบโตขึ้นแทนที่ “ร้านค้า” และทำให้การส่งสินค้าทางไปรษณีย์เติบโต ความสำเร็จของ “ดิจิตอล อีโคโนมี” ไม่ควรจะเป็นเรื่องเด็กนักเรียนมีความสะดวกที่จะสั่งซื้อปืนทางอินเตอร์เน็ตความสำเร็จของ “ดิจิตอล อีโคโนมี” ไม่ใช่เสรีภาพของการกระจาย Hate Speech ข้อความที่ปลุกเร้าความเกลียดชัง ความแตกแยก ในหมู่พลเมือง “ดิจิตอล อีโคโนมี” เป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมไปมาก อย่าโอ้อวดขนาดว่า จะทำให้ชาวนาชาวไร่เข้าสู่ “ดิจิตอล อีโคโนมี” เลย เพราะยังน่าสงสัยว่า บัณฑิตปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์นั้น ได้เรียนรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจใหม่มากน้อยเพียงใด อันที่จริงเศรษฐกิจใหม่ New Economy เกิดขึ้นมานานแล้ว สมัยก่อนเรียกชื่อกันหลายชื่อ เช่น เศรษฐกิจไร้น้ำหนัก , เศรษฐกิจทางปัญญา , เศรษฐกิจที่จับต้องไม่ได้ , เศรษฐกิจที่ไร้วัตถุ ฯ เศรษฐกิจใหม่นี้มันเกิดจากการปฏิวัติเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สองเรื่องคือ การลดขนาดของชิป (แผงวงจรคอมพิวเตอร์) และการแพร่กระจายของการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายระหว่างคอมพิวเตอร์ เมื่อเกิดเศรษฐกิจใหม่แล้ว ก็ย่อมเกิดกฏเกณฑ์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ขึ้นด้วย บางเรื่องนั้นแตกต่างเป็นตรงกันข้ามกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เก่า ๆ เลย ในเศรษฐกิจใหม่ การทำกำไรขึ้นอยู่กับ “การบริการ” ที่มาพร้อมกับสินค้านั้น ๆ เมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคคุ้นเคยกับคุณค่าของสินค้านั้นจนขาดมันเสียมิได้แล้ว สินค้านั้นก็จะกลายเป็นสินค้าที่ไม่มีมูลค่าหรือเกือบไม่มีเลย การทำกำไรขึ้นอยู่กับบริการต่าง ๆ ที่ให้มาพร้อมกับการขายสินค้านั้น ๆ เราจึงเห็นการแจกโทรศัพท์มือถือฟรี แก่ผู้ที่มาใช้บริการของเครือข่าย ฯลฯ นี่เรียกว่า “กฎแห่งการเหลือเฟือ” นี่เป็นตัวอย่างของความรู้ใหม่ที่จำเป็นของ “ดิจิตอล อีโคโนมี” เป็นความรู้ที่จะต้องอัดใส่สมองของพลเมืองไทย จึงจะเข้าสู่สังคม “ดิจิตอล อีโคโนมี” ได้จริง การเตรียมสร้างสังคม “ดิจิตอล อีโคโนมี” จึงคือการปฏิรูปการศึกษา มิใช่การเพิ่มยอดผู้ใช้บริการ 4 G