ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต “การวิจัยสหวิทยาการเพื่อธรรมาภิบาล สืบสานสู่ความมั่นคง” จากหัวข้อดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่ามีการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะมองจากมุมใดมุมหนึ่ง แต่ต้องมองภาพรวมในแง่มหภาค คือ ต้องเห็นทั้งป่าว่ารูปร่างป่าเป็นอย่างไรจึงจะเข้าไปตรวจสอบต้นไม้แต่ละต้นเท่าที่ต้องการ สหวิทยาการเป็นการมองรูปช้างทั้งตัวในลักษณะของการมองเห็นภาพเป็นสัตว์ใหญ่ แต่เรื่องตาบอดคลำช้างเมื่อคลำไปส่วนใดของช้างก็จะสรุปว่าช้างมีรูปร่างหน้าตาดังกล่าว เช่น เมื่อจับหางช้างก็บอกว่าเหมือนเชือก จับตัวช้างก็บอกเหมือนกำแพง เป็นต้น ส่วนความโยงใยระหว่างสหวิทยาการกับธรรมาภิบาลเป็นประเด็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่สิ่งที่ทราบได้ก็คือ ธรรมาภิบาลก็คือความมุ่งเน้นที่จะได้ผลในการปกครองบริหาร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์เพื่อบรรลุเป้าหมาย การเข้าถึงปัญหาแบบสหวิทยาการย่อมมีส่วนเสริมอย่างยิ่งต่อธรรมภิบาล และสิ่งที่คาดหวังก็คือจะนำไปสู่ความเจริญเติบโตที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ในกรณีของการบริหารจัดการทั้งภาครัฐและเอกชนสำหรับนักรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์นั้น สหวิทยาการในโลกยุคโลกาภิวัตน์นำไปสู่การเข้าถึงปัญหาที่ครอบคลุมถึงประเด็นต่างๆ ทั้งภายในและนอกประเทศ โดยวิธีการเข้าถึงปัญหาน่าจะมีดังต่อไปนี้คือ ประการแรก จะต้องมีการเข้าถึงปัญหาแบบสหวิทยาการอันเป็นประเด็นหลักของการศึกษา ประการที่สอง จะต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการในระดับชาติและระดับท้องถิ่น มิติระดับชาติและระดับท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา เพราะโลกยุคปัจจุบันเรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจ นำไปสู่ศูนย์อำนาจทางการเมือง การบริหาร และระดับท้องถิ่น ประการที่สาม จะต้องคำนึงถึงภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม การบริหารจัดการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความเกี่ยวพันกัน ขณะเดียวกันประชาสังคมก็มีบทบาทในการที่จะกำหนดนโยบายและการเรียกร้องทางการเมือง การบริหารจัดการของภาครัฐจึงต้องนำสภาวะของภาคเอกชนรวมทั้งการร่วมมือกับภาคเอกชนมาปฏิบัติ ขณะเดียวกันจะต้องมีการขยายความร่วมมือ การพยายามทำความเข้าใจกับภาคประชาสังคม สามมิติดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ ถ้าจะให้เห็นภาพที่ชัดเจน ประการที่สี่ จะต้องคำนึงถึงสภาวะการบริหารจัดการภายในประเทศ ขณะเดียวกันต้องนำเอาสภาวะในด้านต่างๆ ของต่างประเทศซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลวัตมาเป็นข้อพิจารณา เพื่อไม่ให้มีการกระทำที่สวนทางกับแนวโน้มของโลก มิติภายในประเทศและต่างประเทศไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ในโลกยุคปัจจุบัน ประการที่ห้า เนื่องจากจะต้องมีการบริหารจัดการที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐานสากล ขณะเดียวกันหลายประเทศก็เป็นสมาชิกของความร่วมมือทางภูมิภาค หรือองค์กรระหว่างประเทศ ส่วนภายในประเทศนั้นก็มีตัวแปรที่มีลักษณะเพิเศษของแต่ละประเทศที่ไม่สามารถจะมองข้ามได้โดยสิ้นเชิง เนื่องจากเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี มิติใหญ่ๆ ดังกล่าวนี้น่าจะเป็นกฎเกณฑ์ของการพิจารณาในการเข้าถึงปัญหา นั่นคือ ระดับโลกาภิวัตน์ (Globalization) ระดับภูมิภาค (Regionalization) เช่น AEC และระดับพื้นที่ภายในประเทศ (Localization) สามมิติใหญ่ๆ ดังกล่าวนี้เป็นแนวทางการมองเข้าถึงปัญหาอีกมุมหนึ่ง ปัญหาจากสหวิทยาการเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ดังนี้ การดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมเมือง จะแตกต่างจากสังคมในอดีตที่หาอาหารเพื่อการรับประทาน จากนั้นก็พยายามดำรงไว้ซึ่งการมีอาหารกินต่อไป ไม่ค่อยมีการปะทะสังสรรค์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่สำหรับมนุษย์ในปัจจุบันชีวิตแต่ละวันจะเกี่ยวพันกับมิติต่างๆ เริ่มตั้งแต่การออกจากบ้านเพื่อเดินทางไปทำงานก็อาจจะเดินทางไกล ถนนขรุขระ รถติด ฝนตกเปียกแฉะ ส่งผลต่อความหมดศรัทธาต่อการบริหาร ส่งผลต่อความหงุดหงิดของจิตใจ ผลสำคัญคือทำให้คุณภาพชีวิตลดน้อยลง นี่คือมิติต่างๆ ของปัญหาเล็กๆ ที่เกิดขึ้น อันได้แก่ มิติทางการเมืองการบริหาร มิติทางกายภาพ มิติทางสุขภาพจิต รวมทั้งประสิทธิภาพประสิทธิผลของการเข้าทำงานตรงต่อเวลาซึ่งเป็นมิติทางเศรษฐศาสตร์ นี่คือตัวอย่างของการที่จะวิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหาจากมุมต่างๆ ซึ่งมีข้อมูลและความรู้ทฤษฎีที่แตกต่างกัน วิธีการสำคัญที่สุดก็คือ จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้เชี่ยวชาญในวิชาการต่างๆ นั้น ที่เรียกว่า Workshop โดยการเสวนาถกเถียงกันถึงมุมมองแต่ละความเชี่ยวชาญเพื่อให้มีความเข้าใจในความหมายร่วมกันได้ การวิจัยที่จะมุ่งเน้นถึงมุมต่างๆ จะต้องมีการพูดถึงความสอดคล้องจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ จนเป็นที่ตกลงกัน นี่คือวิธีการเข้าถึงปัญหาแบบสหวิทยาการอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต่างคนต่างเขียนตามทฤษฎีของตนแล้วมารวมในเล่มเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่สหวิทยาการ แต่เป็นการรวมเล่มของมุมมองต่างๆ โดยมีหน้าปกร่วมกัน โดยสรุป สหวิทยาการและธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนนั้น เป็นวิธีการเข้าถึงปัญหาที่ถูกต้อง แต่ผู้วิจัยจะมีความสามารถในการจัดการให้มีความครบถ้วนของวิชาต่างๆ ที่จะใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาแบบสหวิทยาการนั้น มีวิธีการและกระบวนการในการกระทำอย่างไรที่จะนำไปสู่การสัมฤทธิ์ผล เป็นคำถามที่สำคัญที่สุด