ทองแถม นาถจำนง ศาสตราจารย์ สุกัญญา สุดบรรทัด เป็นผู้ที่ศึกษาวิจัยงานเขียนของ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ไว้มากคนหนึ่ง ท่านค้นคว้าเขียนเรื่องประวัติของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เขียนเรื่อง “คึกฤทธิ์วินิจฉัย” ไว้หลายเล่มวันนี้ขอยกข้อเขียนของท่าน หัวข้อ “วัฒนธรรม” มาเสนอดังต่อไปนี้“วัฒนธรรมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ม.ร.ว คึกฤทธิ์ อธิบายว่าวัฒนธรรมไม่ใช่มรดกที่จะต้องสืบทอดและรักษาไว้แบบรักษาของเก่า เก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ นั่นเป็นโบราณคดี ไม่ใช่วัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมนั้นจะต้องเจริญเติบโต ต้องแตกกิ่งก้านสาขาเสมอไป มีการเกิด มีการดับสูญ “ถ้าเราจะสืบทอดวัฒนธรรม ผมอยากจะให้เข้าใจว่าไม่ใช่การสืบมรดก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีอยู่เท่าไหร่ก็สืบกันไปอย่างนั้นอย่าให้สูญหาย เป็นไปไม่ได้ ทำอย่างนั้นเป็นการเก็บของเข้าพิพิธภัณฑ์...... วัฒนธรรมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการเจริญเติบโต ต้องมีการแตกกิ่งก้านสาขาเสมอไป จะให้คงที่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นของในเมืองไทยหลายสิ่งหลายอย่างแต่ก่อนถือว่าเป็นวัฒนธรรมไทย แล้วมีอยู่เป็นประจำ ยกตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ อย่างเช่น การแสดงประจำ อย่างหนังใหญ่ หุ่น เหล่านี้เป็นต้น เดี๋ยวนี้เรียกว่าสูญ ถึงจะมีอยู่ ก็เหลือน้อยจนไม่สามารถจะคงทนต่อกาลเวลาไปได้ ชีวิตใกล้ฝั่งเต็มทีแล้ว ในที่สุดก็ต้องสูญ ที่เป็นเช่นนี้เพราะสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป กาลสมัยเปลี่ยนแปลงไป การแสดงแบบหนังใหญ่เป็นการแสดงที่ต้องใช้เวลามาก เป็นการแสดงที่ต้องนั่งดูกันทั้งคืนทั้งวัน คนสมัยปัจจุบันไม่มีเวลาจะไปแสดงอย่างนั้น” “คนสมัยก่อนอ่านหนังสือไม่ออก ทางเดียวที่จะทำวรรณคดีให้ปรากฏแก่คนส่วนใหญ่ คือการแสดงบางอย่าง เช่น โขน ละคร....... ให้คนรู้เรื่องวรรณคดี..... ตัวหนังใหญ่นั้นเป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น ก็อย่างในหนังสือปัจจุบัน มีภาพประกอบฉันใดก็ฉันนั้น เขาชูขึ้นจดเพื่อให้คนเห็นในระหว่างกูฟังเรื่องอยู่ เดี๋ยวนี้มันรักษาไม่ได้ก็ต้องสูญ เพราะเหตุว่าวัตถุอันสื่อสารอื่นเกิดมากมายเหลือเกิน ประการแรกหนังสือมีพิมพ์ได้สะดวก พิมพ์ได้จำนวนมาก หนังสือทุกชนิด ในประการที่สอง สังคมเป็นสังคมที่อ่านหนังสือออก...... ประการที่สามยังมีสื่อสารอื่น เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเจริญกว้างขวางมาก คนสามารถรู้เรื่อง ได้ยินได้ฟังจากสื่อสารเหล่านี้ สิ่งซึ่งเคยเป็นวัฒนธรรมโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่วรรณคดี ก็ต้องสูญไป มันจะเหมาะสมเฉพาะกาลสมัย เรื่องของคนโบราณเท่านั้น” แม้ภาษา ก็ยังต้องเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ “มีศัพท์เกิดขึ้นใหม่ มีอะไร ๆ ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ท่านเดือดร้อน แต่ผมกลับไม่เห็นด้วย ตราบใดที่มันเป็นภาษาไทย มันก็เป็นวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่เรารักษา เป็นสิ่งที่เราสืบทอด ศัพท์แสงจะเปลี่ยนไปเป็นเรื่องธรรมดา มันเปลี่ยนมากี่ร้อยปีแล้ว ถ้าไปเอาภาษาไทยสมัยสุโขทัยมาเทียบกับภาษาไทยปัจจุบันที่ท่านผู้ใหญ่ ท่านผู้รู้ ท่านถือว่าถูกต้อง มันก็ไม่เหมือนกัน” ยกเว้นแต่เรื่องการพูดราชาศัพท์ เป็นรูปแบบอย่างหนึ่งของการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมที่ไม่ควรให้ผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทีทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้บริหารประเทศ ต้องรู้ราชาศัพท์ เมื่อมีโอกาสต้องเข้าเฝ้าฯ เจ้าหน้าที่ทำงานสำนักพระราชวังไม่รู้ราชาศัพท์ คบไม่ได้ คือไม่รู้จักหน้าที่ของตน ไม่ใช่เรื่องประเพณีสูงต่ำอะไร “ราชาศัพท์นั้น ผมกลับเห็นว่า คนที่มีหน้าที่จะต้องใช้เห็นจะต้องรู้........ ถ้าไม่รู้อย่าใช้ดีกว่า ถ้าใช้ควรใช้ให้ถูก....... ท่านเสด็จฯในเขตหัวเมือง ในเขตทุรกันดาร เสวยพระกระยาหารแล้วก็หยิบพระโอสถมวนคือบุหรี่ขึ้นมาจะทรง ตำรวจชายแดนวาปรี๊ดเข้าไปแล้วบอกว่า ‘ถวายพระเพลิง พะย่ะต่ะ’ มันเรื่องตลก และทำให้ขาดความเคารพ เพราะใครได้ยินเข้าอดหัวเราะไม่ได้”การสืบทอดวัฒนธรรม การจะสืบทอดวัฒนธรรมนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเวลา เราต้องมีเวลารักษาด้วย ในส่วนของสถานการณ์นั้น ยกตัวอย่างเช่น เมืองไทยสมัยก่อนอุดมสมบูรณ์มาก เวลาจะจัดสำรับคับค้อนต้องตั้งให้มันล้นชามล้นถ้วยตักเท่าไรไม่หมด ‘ไม่งั้น ไม่มีวัฒนธรรม ใครเห็นเข้าดูถูกได้’ ในส่วนของเวลา แต่ก่อนเรามีเวลามาก ไม่รีบเร่งเหมือนเดี๋ยวนี้ ก็มีเวลาจัดอาหารให้สวยงาม วิจิตรพิสดาร หรืออย่างวรรณคดี การจะสืบทอดก็ต้องมีเวลา ‘ผมอยากจะสร้างปัญหาให้เกิด คนทุกวันนี้มีเวลาอ่านวรรณคดีหรือไม่’ ไม่ต้องถึงวรรณคดี แม้แต่ข่าวสารที่เข้ามาถึงตัวทุกวันนี้ มีเวลาอ่านหรือไม่ “นับประสาแต่วรรณคดี จะมีเวลาอ่านที่ไหนกัน” “เราต้องการความรวดเร็ว อ่านอะไรก็ต้องการอ่านให้รู้เรื่องรวดเร็ว เวลานี้สิ่งที่อ่านสะดวกที่สุดไม่ใช่วรรณคดี อ่านแล้วเพลิดเพลินสบายอกสบายใจ อยากอ่านต่อ คอเรื่องจีนที่เขาลงกลางหนังสือพิมพ์รายวัน อะไรล่ะ ศึกสองนางพญาบ้างละ หรืออะไรมั่ง อ่านกันสะดวก” การสืบทอดวัฒนธรรมทางวรรณกรรม ดนตรี การเมือง ผลงานของใครจะเป็นวรรณคดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้อ่าน การจะสืบทอดวรรณคดีต้องให้เด้กรู้จักอ่าน และหาหนังสือให้เขาอ่านด้วย ทั้งของไทยและของโลก “เราไม่อยู่ในฐานะที่จะวินิจฉัยได้หรอกครับ และที่เราวินิจฉัยกันมาแล้ว ราชบัณฑิตยสภาหรืออะไรวินิจฉัยว่าอะไรเป็นวรรณคดีนั่น เพื่อประโยชน์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีวรรณคดีสอนไว้ จะเป็นจริงหรือเปล่า ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ไม่รู้จะตัดสินได้เพียงใด แต่ถ้ามีตราพระคเณศติดแล้ว ก้ถือว่าเป็นวรรณคดี นั่นเป็นเรื่องของระบบราชการเมืองไทย ตอกตราอะไรก็ศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น” “ เราจะให้วรรณคดีรุ่งเรืองต่อไป หรือสืบทอดต่อไป เราต้องแก้ทางด้านหนังสือ ต้องแก้ให้คนอ่านหนังสือเป็น และต้องมีทางหาหนังสือให้เขาอ่านด้วย และอีกอย่างหนึ่งเรื่องของวรรณคดีมันไม่ใช่เรื่องของไทยโดยเฉพาะ วรรณคดีเป็นเรื่องของโลก วรรณคดีโลกนั้นก็มี ถ้าคนไทยมีทางได้รับรู้วรรณคดีของโลกแล้ว วรรณคดีไทยจะเกิดขึ้นสะดวกกว่านี้อีก เราจะมีความรู้และความคิดเห็นกว้างขวางขึ้น” (จากหนังสือ “คึกฤทธิ์วินิจฉัย สุนทรียวินิจฉัย”)