ศาสนากับการปกกครองนั้นเป็นของคู่กันมาตั้งแต่มนุษยชาติเริ่มก่อตัวเป็นสังคม ที่ประกอบขึ้นจากหลายโคตรตระกูล (โบราณใช้คำว่า “ด้ำ”)
ที่ต้องเขียนสะกิดใจผู้อ่าน เนื่องจากข่าวความแตกแยกที่ลามจากสังคมฆราวาสเข้าไปสู่ในคณะสงฆ์ อาจจะสร้างความเศร้าหมองในใจคนไทยจำนวนมาก
วงการศาสนาหลีกหนีไม่พ้นจากเรื่องการเมือง บางครั้งเมื่อการเมืองการปกครอง มีปัญหาร้ายแรง วงการศาสนาก็หลีกยากที่จะต้องแปดเปื้อนไปด้วย การเข้าใจประเด็นนี้จะช่วยบรรเทาความเศร้าหมองของพุทธศาสนิกได้
สังคมดึกดำบรรพ์นั้น ผู้นำทางจิตวิญญาณ (หมอผี-ปุโรหิต) มีความสำคัญมาก อาจจะเป็นผู้นำสูงสุดของสังคม คือมีสถานะสูงกว่าผู้นำทางการทหารการปกครอง แต่เมื่อสังคมขยายสลับซับซ้อนขึ้น สถานะของผู้นำทางการปกครองจำเป็นต้องมีอำนาจสูงสุด แม้จะยังจำเป็นต้องพึ่งพิงผู้นำทางจิตวิญญาณ(ศาสนา)ด้วย
ดังเช่น ชาติพันธุ์อารยันในอินเดีย มี “กษัตริย์ -พราหมณ์” ชาติพันธุ์ไทดึกดำบรรพ์ เช่นคติความเชื่อของชาวไทดำ(ในเวียดนาม) ที่ว่า “เลืองเฮ็ดหมอ ลอเฮ็ดท้าว” คนตระกูลเลืองเป็นหมอผี คนตระกูลลอเป็นเจ้าเมืองนักปกครอง
สรุปว่า อาณาจักรต้องอยู่เหนือศาสนจักร โลกเป็นเช่นนั้น ใครขืนฝืนกฏข้อนี้ก็จะอับเฉาเศร้าหมองไปเอง
ศาสนาพุทธนั้นต้องการยุติโลกย์ มีคำสอนสองส่วนคือ ส่วน “ปรมัตถ์สัจจะ” สำหรับผู้มีปัญญาบารมีที่ต้องการยุติความทุกข์ในชีวิตตน เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คือสาย “พระป่า” กับส่วน “สมมุติสัจจะ” สำหรับชาวบ้านทั่วไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้สังคมสงบร่มเย็น เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คือ ระบบศีลธรรมทั่วไป ที่คล้ายคลึงกันทั้งโลก
ผู้ปฏิบัติตามปรมัตถ์สัจจะนั้น ปลีกตัวจากโลกย์ มีจำนวนน้อย แต่ผู้ปฏิบัติตามสมมุติสัจจะยังอยู่กับโลกย์ ยังหลงผิดพลงถูก และมีจำนวนมาก จึงจำเป็นจะต้องอยู่ใต้การปกครองทางโลกย์ คือขึ้นอยู่กับ “อาณาจักร”
พูดตรง ๆ ก็คือ ถึงจะมีอำนาจบารมีคุมสงฆ์ได้จำนวนมาก แต่ก็ต้องขึ้นต่อกฏหมายบ้านเมือง หากทำผิดกฏหมายบ้านเมืองก็ต้องรับโทษตามกฏหมาย
ที่สำคัญคือฝ่ายบ้านเมืองต้องเที่ยงธรรมในการบริหารจัดการวงการศาสนา
เมื่อเที่ยงธรรมตามกฏหมายจริง ความขัดแย้งแตกแยกร้ายแรงก็จะไม่เกิด
มวลชนก็จงมีสติ ใช้ปัญญาตรวจสอบ
ประกายไฟเล็ก ๆ จากกรณีปัญหาเรื่องเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงจะไม่บานปลายกลายเป็นเรื่องเศร้าหมองทำลายศรัทธาของพุทธศาสนิกไทย