สถาพร ศรีสัจจัง
สังคมไทยมีถ้อยคำความเปรียบที่แสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (ต้นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านอื่นๆ?) ปรากฏให้เห็นไม่น้อย ทั้งในสุภาษิตคำพังเพย ในบทประพันธ์หรือในบทเพลงต่างๆ (เช่น คนรวยเหมือนเทวดา/คนจนคนป่าคนตง ฯลฯ) ถ้อยคำดังว่า มีมาตั้งยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน ที่เป็นถ้อยคำไพเราะก็มาก ที่ออกไปทางดิบๆหยาบๆก็มีไม่น้อย(เช่น รวยเป็นคน/จนเป็นหมา ฯลฯ)
ถ้าวิเคราะห์สังคมไทยโดยเอาหลัก “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” ( Historical materialism) ของคาร์ล มาร์กซ์ มาจับ ก็จะพบว่า ผู้คนในดินแดนแถบที่เป็น “แหลมสุวรรณภูมิ” หรือประเทศ “สยามไทย” ปัจจุบันก็ผ่าน “ยุคสมัย” ในอดีตมาเหมือนๆหรือคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่นๆในโลกนั่นแหละ
แม้จะมีรายละเอียดของความขัดแย้ง(เหตุปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม)ทั้งภายในและภายนอกที่มีลักษณะจำเพาะหรือเป็น “อัตลักษณ์” ของตัวเองอยู่ไม่น้อย(ก่อให้เกิดการเคลื่อนเปลี่ยนทางสังคมที่แตกต่าง)ก็ตาม
เช่น เราจะพบว่า พื้นที่แถบนี้เมื่อเคลื่อนเปลี่ยนจากยุคก่อนประวัติศาสตร์(Pre-historical era)เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์(Historical era)นั้น การเชื่อมต่อค่อนข้างยาวนานมาก จากกลุ่มคนเร่ร่อนเพื่อหาของป่าล่าสัตว์เพื่อยังชีพในยุคก่อนประวัติศาสตร์ กว่าจะหยุดเร่ร่อนจนสามารถก่อตั้งชุมชนจัดรูปเป็นสังคมเกษตรกรรมยุคแรกขึ้นได้ แทบจะเรียกได้ว่าต้องใช้เวลานับเป็นพันๆปี มีหลักฐานทางโบราณคดีในเรื่องเหล่านี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะแถบตอนใต้ของแหลมไทย ทั้ง ฟากฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย เป็นต้น
ชุมชนนครรัฐในสังคมเกษตรกรรมที่มีรูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิต ซึ่งพออนุโลมเรียกตามหลักการ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” ของคาร์ล มาร์กซ์ได้ว่าคือระบบ “Feudalism” หรือที่ใครๆนิยมแปลเป็นไทยว่า “ระบบศักดินานิยม” (ที่บางใครบางกลุ่มในยุคปัจจุบันมักเอาไปสร้างเป็นม็อตโต้ปลุกใจปลุกระดมว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาชนจงเจริญ” ขอเสนอว่าควรปรับเป็น “ประชาราษฎร์จงเจริญ” จะฟังคล่องหูกว่า,นั่นไง!)ในพื้นที่แหลมสุวรรณภูมินั้น กินเวลายาวนานมาก นับได้เป็นสิบๆศตวรรษทีเดียว
จากยุคแรกๆ สู่ยุคทวาราวดี มัชปาหิต ศรีวิชัย ลังกาสุกะ ฯ..จนถึง..สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา กระทั่งล่วงสู่ยุคของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงเทพรัตนโกสินทร์มหินทรามหาดิลกฯเข้าแล้วนั่นแหละ..จึงเริ่มเห็นร่องรอยปฐมแห่งเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง “รูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิต” ในสังคมสยาม!
การเปลี่ยนแปลงที่มาถึงพร้อมกับแรงบีบจาก “เรือปืน” ของ “ลัทธิจักรวรรดินิยม” แห่งเกาะบริเตนใหญ่ที่หมู่เฮาเรียกว่า “อังกฤษ” ในปัจจุบัน!
ที่มาถึงพร้อมกับสัญญาที่เรียกขานโดยบรรดานักประวัติศาสตร์สืบมาว่า “สนธิสัญญาเบาริ่ง” เนื่องจากผู้นำสนธิสัญญาจากบริเตนใหญ่มาให้สยาม “ต้อง” ลงพระนามครั้งนั้น ชื่อ เซอร์ จอห์น เบาริ่ง!
ตั้งแต่นั้นมาหรอก ที่ “การผลิตเพื่อขาย” หรือ “การผลิตเพื่อส่งออก” ได้เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเป็นระบบในสังคมสยามหรือ “ไทยแลนด์” ซึ่งเป็นชื่อที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อป.พิบูลสงคราม เมื่อไม่นานนักมานี่เอง
เชื่อเถิดว่า ความล้ำเลิศในวิเทโศบายของบรรดาพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์บางพระองค์รวมถึงขุนนางผู้ใหญ่หลายท่านในยุคต้นรัตนโกสินทร์และองค์คุณของพระพุทธศาสนาที่แผ่คลุมคุ้มดินแดนสุวรรณภูมิมายาวนาน นับว่ามีส่วนอย่างสำคัญ ที่ทำให้การเคลื่อนเปลี่ยนของ “สยาม” สามารถดำรง “ปัจจัยภายใน” ที่จำเพาะของตนไว้ได้ยาวนานพอควร แม้ภายหลังมหาวาตภัยที่เรียกว่า “ลมตะวันตก” จะโหมกระหน่ำใส่บ้านนี้เมืองนี้ จนชนรุ่นหลังต้านไม่อยู่ก็ตาม!
ความยาวนานของรูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิตในสังคมเกษตรกรรมภายใต้รูปแบบการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” จนพัฒนาขึ้นเป็นระบบ “ธรรมราชา” (การปกครองโดยราชาผู้ทรงธรรม โดยยึดหลักตามแบบของชาวชมพูทวีปมาปรับใช้อย่างสอดคล้องกับบริบททางประวัติศาสตร์ของตน/ผู้ปกครององค์ใดที่ไร้ธรรมจึงมักอยู่ได้ไม่นาน?)และระบบศาสนาแบบ “พุทธสยามวงศ์” (พุทธแบบชาวสยาม) ได้หลอมสร้าง “อัตลักษณ์” ให้ผู้คนในพื้นถิ่นนี้เกิด “โครงสร้างชั้นบน” (วัฒนธรรม)ที่มีคุณลักษณะอย่างพิเศษทั้งยังสะท้อนกลับมากำหนด “โครงสร้างชั้นล่าง” (ระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตเศรษฐกิจ)ให้มีลักษณะจำเพาะอย่างน่าอัศจรรย์!
แม้สังคมในอดีตของ “สยาม” หรือผู้คนบนแผ่นดิน “สุวรรณภูมิ” แห่งนี้ในอดีตดังกล่าวจะผ่านการมี “ชนชั้น” มาเหมือนกับพื้นที่หรือสังคมต่างๆของชาวอัสดงคตประเทศ แต่เชื่อเถิดว่า ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบธรรมขาติเช่นนั้นและอิทธิพลของศาสนาพุทธ ทำให้ผู้คนเหล่านั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมากมายนักทั้งในด้านปัจจัยแห่งการมีชีวิตอยู่และคุณค่าในฐานะความเป็นมนุษย์!
เฉพาะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้นกล่าวได้เลยว่าชนชั้นล่าง(คนส่วนใหญ่)ไม่ได้แตกต่างกับชนชั้นบน(คนส่วนน้อย)เหมือนฟ้ากับดินหรือเหมือนเทวดากับหมาน้อยดังเช่นยุคปัจจุบันดอกนะเออ!!!(อาจยกเว้นเพียงองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงถูกยกให้เป็น “เจ้าแผ่นดิน” และพระราชนิกูุลขั้นสูงกระผีกริ้นหนึ่ง ที่เป็นเครื่องประกอบพระบารมีแห่งองค์กษัตริย์ซึ่งทรงเป็นเหมือน"สมมติเทพ"เท่านั่น!)