ในแง่ของผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย หลังการก้าวเข้าสู่ทำเนียบประธานาบดีอย่างเป็นทางการของ นายโจ ไบแดน เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่ง ข้อมูลจาก น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามคำสั่งพิเศษขยายเวลาการชำระเงินกู้เพื่อการศึกษาพร้อมทั้งดอกเบี้ย อีกทั้งจะเร่งผลักดันแผนงบประมาณการเยียวยาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะเข้าสู่การลงนามคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อเร่งขับเคลื่อนแนวทาง “Buy American” (เพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในสินค้าและบริการภายในประเทศ) ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตน (คืนวันที่ 20 ม.ค.64 ตามเวลาไทย) ปธน.ไบเดนยังได้เน้นย้ำอีกครั้งว่าสหรัฐฯจะมีส่วนร่วมในประเด็นที่เป็นความท้าทายของโลก รวมถึงการฟื้นฟูความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีโลก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าสหรัฐฯจะเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในประเด็นที่มีความสำคัญหลากหลายรวมถึงด้านการค้า และกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือแบบพหุภาคีและยึดถือกฎกติกาสากล เช่น กฎเกณฑ์ทางการค้าตามกลไก WTO มากขึ้น ในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าไทย น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า มาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของกลุ่มชนชั้นกลางที่เป็นกำลังซื้อหลักของประเทศ จะสนับสนุนให้สหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยล่าสุด(มกราคม 2564) ธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2564 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังการซื้อของชาวอเมริกัน รวมถึงเศรษฐกิจโลกและการซื้อสินค้าจากไทย ด้วยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ขณะเดียวกันภาพรวมปี 2563 ชี้ว่า ไทยยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.55 (YoY) แม้เผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นปลายน้ำ กลุ่มสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด นอกจากนี้ มาตรการเพื่อระงับการแพร่ระบาดของโควิด-19ที่เข้มงวดมากขึ้น สร้างโอกาสการผลักดันการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันโรค/ผลิตภัณฑ์การแพทย์ เช่น ถุงมือยาง อีกทั้ง ไทยควรเร่งผลักดันการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แก่ อาหารทุกประเภท สินค้าที่เป็นกลุ่ม work from home เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน สินค้าไลฟ์สไตล์เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนนโยบายตามแนวทาง “Buy American” ของ ประธานาธิบดีบเดน ที่กำหนดให้ภาครัฐเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สินค้าเหล็ก อลูมิเนียม และวัตถุดิบสำคัญภายใต้โครงการสำคัญของรัฐบาล อาจสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวจากไทยไปยังสหรัฐฯ (ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ อันดับ 1 ของไทย คิดเป็นมูลค่า 1,011 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนร้อยละ 20.81 ของการส่งออกเหล็กฯ ทั้งหมดในปี 63 และเป็นตลาดส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม อันดับ 2 ของไทย คิดเป็นมูลค่า 190.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนร้อยละ 11.23 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมทั้งหมดในปี 63) และการกลับเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายเพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสร้างแรงกดดันต่อสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอาจส่งผลต่อการส่งออกรถยนต์สันดาปภายในของไทย (ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอันดับ 6 ของไทย คิดเป็นมูลค่า 1,039.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนร้อยละ 4.89 ของการส่งออกสินค้ารถยนต์ฯ ทั้งหมดในปี 63 และเป็นตลาดส่งออกเครื่องยนต์สันดาปภายในอันดับ 6 ของไทย คิดเป็นมูลค่า 215.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนร้อยละ 5.88 ของการส่งออกเครื่องยนต์สันดาปภายในทั้งหมดในปี 63) ประเด็นนี้อาจกระตุ้นให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการสหรัฐฯ ตื่นตัวกับแนวโน้มรักษ์โลกและพลังสะอาดและกำหนดเงื่อนไข/มาตรฐานของสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า มองว่าหากสหรัฐฯ ยึดกฎกติกาสากลและกลไกพหุภาคีมากขึ้น น่าจะช่วยลดความผันผวนหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่อเศรษฐกิจการค้าโลกซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าไทย นอกจากนี้นโยบายการสร้างความร่วมมือและพันธมิตรทางการค้า จะเปิดโอกาสการเจรจาให้ไทยขยายการค้าเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ และคู่ค้าอื่นๆที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ดีไทยต้องเตรียมความพร้อมประเด็นที่ ประธานาธิบดีไบเดนให้ความสำคัญ คาดว่าจะถูกหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขการเจรจาการค้าในอนาคต เพื่อลดประเด็นปัญหาและสร้างบรรยากาศการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีระหว่างกัน เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและแรงงาน รวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เช่นเดียวกับมาตรการอื่นๆที่สหรัฐฯใช้ติดตามพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การติดตามนโยบายค่าเงินของประเทศคู่ค้า/การบิดเบือนค่าเงิน (currency manipulation) ซึ่งอาจใช้เป็นเหตุผลในการออกมาตรการอื่นๆเช่น มาตรการภายใต้มาตรา 301 และการขึ้นภาษีตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ต่อประเทศคู่ค้าที่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนให้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง น่าสนใจ ที่ไทยต้องเรียมรับมือกับเงื่อนไขการเจรจาการค้า และประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน แรงงานและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการทำความเข้าใจ ในวิถีไทย ดังที่เคยเกิดบทเรียนจากกรณีผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าในยุโรป ไม่เข้าใจวิถีชีวิต ลิงเก็บมะพร้าว และประเด็นล่อแหลมทางการเมือง