แม้จะมีสัญญาณดีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับขึ้นทะเบียนรับรองวัคซีนป้องกันโควิด-19ของบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว โดยรับรองทั้งที่นำเข้ามาและผลิตภัณฑ์ที่ร่วมกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ โดยจะส่งมอบวัคซีนล็อตแรกในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยเป็นการเจรจาส่งมอบเร็วกว่ากำหนดเดิมในเดือน พฤษภาคม2564 ที่เจรจาขอซื้อไว้ 26 ล้านโดส
ประกอบกับหลายจังหวัด เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ ให้ดำเนินกิจกรรมและกิจการต่างๆ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ในขณะที่มาตรการเยียวยา ตามโครงการ “เราชนะ”เยียวยาโควิด ที่ให้ช่วยเหลือ 3,500 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564 กำลังอัดฉีดเข้าสู่ระบบ
กระนั้น ธนาคารโลก ได้เผยแพร่รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกฉบับล่าสุด “Restoring Incomes; Recovering Jobs” (การฟื้นฟูรายได้และการจ้างงาน) ระบุว่า เศรษฐกิจของไทยในปี 2564 จะกลับมาเติบโตได้ในอัตรา 4% หลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจปี 63 หดตัว 6.5%
เวิลด์แบงก์ มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 ครั้งที่สอง และคาดว่าในปี 65 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระดับเพิ่มขึ้นเป็น 4.7%
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนไหวต่อความเสี่ยงในด้านลบ ซึ่งอาจมาจากการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำของโรค ส่งผลให้การท่องเที่ยวและกิจกรรมภายในประเทศซบเซาต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนแอกว่าคาด อาจนำไปสู่ภาวะชะงักงันทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ รวมทั้งระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง
ผลจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มคนวัยรุ่น จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลงทำให้รายได้ต่อเดือนน้อยลง จำนวนชั่วโมงการทำงานยังไม่ฟื้นตัวกลับขึ้นมา และการจ้างงานในหลายๆ ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคการผลิตยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปีก่อนหน้า นั้นหมายความว่าตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่เปราะบางต่อความไม่แน่นอนต่างๆ ในอนาคต รวมถึงการกลับมาระบาดซ้ำของโควิด-19
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤตครั้งนี้ได้ทำให้เห็นถึงจุดเปราะบางสำคัญของประเทศไทย คือจำนวนคนวัยทำงานที่ลดลง อันเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายในการฟื้นฟูความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน
ด้านนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การลดลงของประชากรวัยทำงานจะทำให้อุปทานแรงงานและผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลงในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องสร้างตำแหน่งงานที่มีคุณภาพในภาคส่วนที่มีผลิตภาพสูงซึ่งสัมพันธ์กับเศรษฐกิจแห่งความรู้ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย การดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้สูงอายุและสตรีสามารถช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็เป็นการรับมือกับความท้าทายที่มาพร้อมกับภาวะประชากรสูงวัยด้วย
อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังว่ามาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่มาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในวิกฤติโควิด จะมีประสิทธิภาพ ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งการวางมาตรการในระยะยาวเพื่อรองรับแรงกระแทกในอนาคต