เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com เมื่อสองปีที่แล้ว พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยไปร่วมประชุมใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์ค และได้ร่วมลงนาม “สัญญาประชาคม” กับอีก 192 ประเทศว่า 15 ปีต่อไป (2015-2030) จะร่วมมือกันทำงานเพื่อสร้างสันติภาพให้กับโลกใบนี้ โดยมี 17 เป้าหมายใหญ่ 169 เป้าหมายย่อย ที่เรียกรวมๆ ว่า Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน SDGs ไม่ใช่ปฏิญญาหรือข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย แต่เป็น “ความตั้งใจร่วมกัน” (Resolution) จึงขอแปลว่า “สัญญาประชาคม” ซึ่งไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย เป็นคล้ายกับ recommendations ข้อเสนอแนะให้สมาชิกได้นำไปปฏิบัติร่วมกัน ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีโทษ แต่ก็อาจมีผลต่อ “การลงโทษทางสังคม” (social sanction) อย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น ถูกนำไปผนวกกับเรื่องการค้า เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างประเทศ ไม่ทราบว่าบ้านเรามีการนำเรื่องนี้ไปพิจารณาแบบบูรณาการในการวางแผนยุทธศาสตร์มากน้อยเพียงใด ที่แน่ๆ คือ ประชาชนทั่วไปแทบไม่รู้เรื่องนี้เลย กลายเป็นเรื่อง “พิธีกรรม” ที่ต้องไปลงนามในฐานะสมาชิกยูเอ็น ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศโดยตรง เป้าหมายใหญ่ 17 ข้อ คือ ขจัดความยากจน, ขจัดความหิวโหย, สุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดี, การศึกษาที่มีคุณภาพ, ความเท่าเทียมทางเพศ, น้ำสะอาดและสุขอนามัย, พลังงานสะอาดและทั่วถึง, การงานที่พอเหมาะและการเติบโตทางเศรษฐกิจ, อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน, ลดความเหลื่อมล้ำ, เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน, การบริโภคและการผลิตที่รับผิดชอบ, ปฏิบัติการด้านอากาศ, ชีวิตใต้น้ำ, ชีวิตบนพื้นดิน, สันติภาพ ความยุติธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง, ผนึกภาคีสู่เป้าหมาย รายละเอียดเป้าหมายใหญ่ เป้าหมายย่อย (targets) หาอ่านได้ในฐานข้อมูลมือถือ (ห้องสมุดแห่งโลกยุคใหม่) ที่น่าสนใจ คือ กรอบใหญ่ที่ เป็นกรอบทางความคิดหลักที่สำคัญมาก เพราะเป็นกรอบ “วิสัยทัศน์” อันเป็นที่มาของการเขียนเป้าหมาย มีกรอบคิดสำคัญ 3 ประการที่ “อุ้ม” หรือเป็นฐานรองรับเป้าหมาย คือ Bottom Up, Human Dignity, Sufficiency ซึ่งแปลว่า จากล่างขึ้นบน, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, ความพอเพียง ขอตีความว่า ๑.จากล่างขึ้นบน คือ วิธีการทำงานที่ฟังสียงของประชาชนมากกว่าคิดเองแล้วสั่งการลงไป ไม่ใช้อำนาจ แต่ใช้ความรู้ใช้ปัญญาซึ่งมาจากการปรับกระบวนทัศน์ของผู้มีอำนาจทางการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย ที่กระจายอำนาจ ไม่ทำตัวเป็นศูนย์กลาง คืนอำนาจให้ประชาชน พื้นที่เป็นเป้าหมาย ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ๒.ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือ การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมให้เกิดแก่คนทุกเพศ วัย สถานะภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และคนด้อยโอกาส (อย่างคนจน คนชายขอบ ผู้อพยพ รวมไปถึงผู้ต้องโทษต้องขังที่ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยตระหนักในศักดิ์ศรีความเป็นคน) ๓.ความพอเพียง คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่สหประชาชาติให้การยอมรับและนำมาเป็นแนวทางเพื่อให้เป้าหมายในสัญญาประชาคมนี้สำเร็จ เพราะนี่คือกรอบเกณฑ์ทางศีลธรรมที่เป็นกลางและน่าจะได้รับการยอมรับจากสมาชิกไม่ว่าชาติ ศาสนา วัฒนธรรมใด คำหลักที่สังคมไทยคุ้นเคยและใช้กันทุกวันนี้มี 3 คำ ที่สะท้อน 3 กรอบใหญ่นี้ คือ ชุมชนเข้มแข็ง, ลดความเหลื่อมล้ำ, และเศรษฐกิจพอเพียง เป็น “วาทกรรม” เป็นอะไรที่นำมาใช้และถกเถียงถึงคุณค่า ความหมาย และวิธีปฏิบัติที่แต่ละฝ่ายอาจใช้ไม่เหมือนกัน เพราะมองต่างมุม แต่ต่างก็ใช้เพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่ตนทำ กรอบใหญ่ทั้ง 3 คือ องค์ประกอบสำคัญของวิสัยทัศน์ของยูเอ็นที่ 193 ประเทศลงนามเห็นชอบร่วมกัน วิสัยทัศน์นี้คือบ่อกิดที่มาของ 17 เป้าหมายใหญ่ 169 เป้าหมายย่อย SDGs เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริง เพราะวิสัยทัศน์ (vision) คือ ภาพนิมิต (vision) เป็นภาพฝันที่วาดไว้ คือ โลกในอุดมคติอยากเห็นและเป็นจริงที่ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความสุข ปราชญ์เตือนว่า “วิสัยทัศน์ปราศจากการปฏิบัติ คือ ฝันกลางวัน การปฏิบัติที่ไม่มีวิสัยทัศน์ คือ ฝันร้าย (Vision without action is daydream, action without vision is nightmare.) เนลสัน แมนเดลา อดีตผู้นำแอฟริกาที่โลกยกย่องเสริมต่อไปว่า “ถ้ามีวิสัยทัศน์พร้อมการปฏิบัติก็จะเปลี่ยนโลกได้” (vision with action can change the world)