แก้วกานต์ กองโชค การจัดตั้ง “กระรวงการอุดมศึกษา” ของรัฐบาลเพื่อบริหารจัดการมหาวิทยาลัยแทนสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และไม่ซ้ำซ้อนกับ “กระทรวงศึกษาธิการ” นั้น กำลังเริ่มมีความชัดเจสมากขึ้น “ในการประชุมคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษานั้น ที่ประชุมได้สรุปผลการดำเนินงานเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 3 ฉบับแรก หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขณะนี้ถือว่าการสรุปเรื่องเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว และจะเสนอให้ รมว.ศธ.พิจารณาในวันที่ 16 สิงหาคม 2560 นี้ อีกทั้งคาดว่าจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน” นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะทำงานฯ อธิบายความคืบหน้าของการจัดตั้ง รายละเอียดที่เหลืออาจจะเป็นเพียงการกำหนดหลักสูตรร่วมกับสภาวิชาชีพต่างๆ เนื้อหาสำคัญใน พ.ร.บ.ใหม่นั้นได้มีการกำหนดให้มีตัวแทนสภาวิชาชีพในคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) โดยกกอ.จะต้องคณะกรรมการจำนวนไม่เกิน 15 คน เพื่อให้ กกอ.มีขนาดเล็ก ไม่ใหญ่เหมือนที่ผ่านมา ส่วนการแต่งตั้ง กกอ.ชุดใหม่แทน กกอ.ชุดปัจจุบันที่หมดวาระไปตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2560 แล้วนั้น คาดกันว่ามีการดำเนินการควบคู่ไปตาม พ.ร.บ.ใหม่ของกระทรวงการอุดมศึกษา นั่นคือ ความคืบหน้าล่าสุด ซึ่งสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา “ธรรมาภิบาล” ในสถาบันการศึกษา ตามคำสั่งที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และ มหาวิทยาลัยบูรพา จนทำให้ต้องมีการทบทวน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสถาบันอุดมศึกษา ศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล รองประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) บอกกับนักข่าวว่า “ที่ประชุม กกอ.ได้รับทราบผลการดำเนินการของทั้ง 4 แห่ง ซึ่งสามารถดำเนินการตามโร้ดแมปที่วางไว้ และแก้ไขปัญหาได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยมีปัญหาหนักหน่วงมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ทุกแห่งก็มีการแก้ไขปัญหาที่ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ทำให้เริ่มมีการหารือกันถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะส่งมอบคืนมหาวิทยาลัยให้กลับสู่ภาวะปกติ แต่จะส่งมอบคืนได้เมื่อไหร่นั้นยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้” นั่นหมายความว่า ปัญหาความขัดแย้งเชิงอำนาจในมหาวิทยาลัย กำลังคลี่คลายลงไป แม้ว่า ปมความขัดแย้งโดยพื้นฐานของมหาวิทยาลัยยังไม่ได้ขจัดไปก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 37/2560 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา44ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช2557 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา โดยระบุให้สถาบันอุดมศึกษามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดีคณบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้ จนทำให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษา และนอกสถาบันการศึกษา ร่วมลงชื่อเกือบ 200 คัดค้านคำสั่งดังกล่าว เพราะเกรงว่า จะมีการนำบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย มาบริหารสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะนักการเมือง จนหวั่นวิตกว่า มหาวิทยาลัยสูญเสียความเป็นอิสระ ขาดเสรีภาพทางวิชาการ แต่คำสั่งดังกล่าวมีพื้นฐานมาจาก “ทางตันในมหาวิทยาลัยราชภัฎ” ที่ไม่สามารถสรรหาอธิการบดีได้ เนื่องจากมีการร้องเรียนกันมากเรื่องการได้มาซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่สำคัญด้วยลักษณะพิเศษของมหาวิทยาลัยที่ไม่มี “สายบังคับบัญชา” อย่างถาวร นั่นคือ ไม่สามารถเป็นอธิการบดีจนเกษียณอายุราชการ หรือเป็นคณบดี จนเกษียณอายุ เหมือนกับกระทรวงอื่นๆที่สามารถการเป็นอธิบดี หรือปลัดกระทรวง จนเกษียณ ทำให้สามารถให้คุณให้โทษแก่บุคลากรได้ มหาวิทยาลัยจึงยังจมอยู่กับความขัดแย้งนี้ไปอีกนานครับ พี่น้อง......นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะต้องมี “กระทรวงการอุดมศึกษา” ขึ้นมา !!!