ทวี สุรฤทธิกุล ตำรวจมีอำนาจมากเพราะ “กำดวงใจ” ของผู้มีอำนาจไว้ได้มาก ทราบว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้วและกำลังจะเสนอเข้าสู่สภาต่อไป แต่ก็อาจจะ “แท้ง” ไปค้างคาอยู่ในสภาจนหมดอายุสภาด้วยแรงทึ้งของบรรดาผู้ที่กลัวสูญเสียอำนาจ หรือถูกกระชากลงมาด้วยเล่ห์กลต่าง ๆ ของบรรดาผู้ที่อุปถัมภ์กันอยู่ในระบบนี้อีกก็ได้ เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถทำลายระบบอุปถัมภ์ในวงการตำรวจลงไปได้แล้ว ตำรวจก็ยังคงจะ “กร่าง” เช่นนี้ไปอีกนาน ในปี 2552 ที่ผู้เขียนเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ โดยการแต่งตั้งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น โดยมีพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานคณะกรรมการ งานของคณะกรรมการมุ่งเน้นการสอบสวนการทุจริตในการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีนายตำรวจระดับรองสารวัตรและรองผู้กำกับแจ้งมายังรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้เขียนได้ทราบ “ก้นบึ้ง” ของปัญหาในการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นมาอย่างยาวนานในระบบอันเลวร้ายของตำรวจไทย “ก้นบึ้ง” ที่ว่านี้ก็คือ “ระบบส่วย” และ “การแอบอ้างผู้มีอำนาจและเบื้องสูง” โดยที่ระบบส่วยนั้นก็คือการหาเงินให้นาย ที่มีหลายลำดับขั้น ตั้งแต่ระดับโรงพักไปจนถึงในรัฐบาล โดยมี “กลุ่มหน้าห้อง” ตั้งแต่ในระดับกองบัญชาการตำรวจในส่วนภูมิภาค ที่เป็นผู้กลั่นกรองเสนอในลำดับแรก ก่อนที่จะถูกส่งเข้าไปอนุมัติกันในคณะกรรมการตำรวจ (กตร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน โดยกลุ่มหน้าห้องของทั้งสองส่วนนี้(กองบัญชาการกับ กตร.)จะมีคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีอ้างว่า “นายมอบหมายมา” จึงทำให้กลุ่มหน้าห้องเหล่านี้มีอำนาจมาก โดยจะสังเกตเห็นว่ากลุ่มคนที่ใกล้ชิดนายเหล่านี้จะเจริญเติบโตในตำแหน่งหน้าที่อย่างรวดเร็วมาก และที่สำคัญจะมีฐานะ “อู้ฟู่” หรือร่ำรวยจนเกินหน้าเกินตาเพื่อนฝูงในรุ่นเดียวกัน ในหนังสือร้องเรียนของบรรดาตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมกว่า 200 ฉบับ มีเนื้อหาสอดคล้องกันถึงระบบ “นายเลว ลูกน้องชั่ว” ที่ร่วมกันก่อกรรมทำเข็ญกับเพื่อนตำรวจด้วยกันว่า การเรียกร้องเอาทรัพย์สินเงินทองมีอยู่จริงและเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงตำรวจที่ไม่ยอมอยู่ในอำนาจหรือยอมสยบเข้าเป็นพรรคพวกของ “ก๊วนชั่ว” พวกนี้ก็จะถูกกลั่นแกล้งรังแกต่าง ๆ นานา เช่น ถูกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่อันตรายหรือห่างไกลผลประโยชน์ อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไปให้ไกล ๆ ตา” ยิ่งไปกว่านั้นตำรวจที่จะได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะได้รับการพิจารณาเป็น “อย่างดี” จะต้องมี “ตั๋ว” ที่หมายถึง “การฝากฝัง” จาก “คนใหญ่คนโต” ทั้งในวงการตำรวจ ที่อาจจะเป็นอดีตนายตำรวจ นายตำรวจใหญ่ในปัจจุบัน นักการเมือง หรือผู้มีอำนาจ อย่างที่เรียกกันในวงการตำรวจว่า “เด็กของใคร” ฝากฝังให้พิจารณาเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย มีเรื่องที่น่าสังเวชในการพิจารณาแต่งตั้งอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีนายตำรวจจำนวนหนึ่งอ้าง “ภารกิจลับ” หรือ “ความสัมพันธ์ที่ไม่อาจจะเปิดเผยได้” เพื่อที่จะให้มีสิทธิ์เหนือผู้อื่น แต่พอคณะกรรมการสอบถามไปแล้วก็ได้รับการปฏิเสธ อันแสดงให้เห็นว่าความชั่วร้ายในการวิ่งเต้นนี้เป็นไปได้ถึงขั้นการแอบอ้างที่มิบังควร รวมถึงการอ้างผู้หลักผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ที่พอคณะกรรมการขอทราบข้อมูลไปก็พบว่าเป็นความเท็จ ผู้หลักผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่รู้เรื่องเลย จึงอาจจะพูดได้ว่าในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจนี้คงจะมี “ตั๋วปลอม” อยู่เป็นจำนวนมาก ที่บรรดาผู้รู้ในวงการตำรวจบอกว่า เป็นฝีมือของบรรดา “กลุ่มหน้าห้อง” เหล่านั้นนั่นเอง ในทางสังคมวิทยา ความชั่วร้ายของผู้คนในสังคมเกิดจาก “พลังชั่ว” ในตัวคนแต่ละคนที่มีอยู่มากน้อยไม่เท่ากัน อันมีแหล่งที่มา 2 ด้านคือ จากกิเลสตัณหาในตัวของคน ๆ นั้นเอง กับสังคมรายรอบที่ส่งเสริมหรือนำไปสู่การทำชั่วต่าง ๆ นั้น แต่ในกรณีของตำรวจไทยนี้น่าจะเป็นเรื่องของสังคมที่รายรอบนั่นมากกว่า ดังที่ได้นำเสนอมาในตอนแรกนั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกครอบด้วยอำนาจ อำนาจนำมาซึ่งผลประโยชน์และความสำเร็จต่าง ๆ อำนาจจึงเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาสูงสุดในสังคม แนวคิดในการปฏิรูปตำรวจที่ผู้เขียนเข้าไปเกี่ยวข้องในรอบแรกเมื่อ พ.ศ. 2550 มีเป้าหมายเพื่อที่จะ “ลดอำนาจ” ของตำรวจด้วยการ “กระจายอำนาจ” ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย และเพิ่มอำนาจตรวจสอบในภาคประชาชนเพิ่มเข้าไป แต่พอเสนอกฎหมายลดอำนาจนั้นเข้าสภาก็ถูกขัดขวางจากกลุ่มอดีตนายตำรวจที่ขอให้ชะลอการพิจารณาออกไปก่อน โดยให้เปิดฟังความคิดเห็นจากประชาชนอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการได้ดำเนินการรับฟังไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่รับฟังจากตำรวจและที่รับฟังจากประชาชน จนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นหมดวาระไป สำหรับการปฏิรูปตำรวจในรอบที่ 2 เมื่อปี 2552 ก็มีเป้าหมายเพื่อที่จะ “ลดอิทธิพล” ที่อยู่เหนือตำรวจ ด้วยการสอบสวนเพื่อ “กระชากลากไส้” กระบวนการคนที่อำนาจเหนือการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย โดยได้วางระบบและทำระเบียบในการแต่งตั้งโยกย้ายเสียใหม่ โดยให้ยึดถือระบบอาวุโสอย่างเคร่งครัด ร่วมกับการที่ให้คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายในทุกระดับกระทำการให้โปร่งใส อย่างหนึ่งก็คือเพื่อกำจัด “ขบวนการหน้าห้อง” และวิธีการที่ชอบ “แอบอ้างเจ้าใหญ่นายโต” ภารกิจนี้คงสำเร็จอยาก ตราบที่คนไทยก็ยังคง “บ้าอำนาจ” เหมือนผู้นำที่สืบทอดอำนาจอยู่นี่