หากตัดประเด็นทางการเมือง วาทะกรรมการตอบโต้ออกไป แล้วมาดูเนื้อหาสาระ ว่าทำไมรัฐบาลจึงเลือกสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดในการผลิตวัคซีน ก็จะพบข้อเท็จจริงที่กระจ่างแจ้ง จากการอธิบายความที่ตอบได้ทุกคำถามของ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในการแถลงกรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ให้กับคนไทย จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อความเข้าใจ ในสังคมที่ต่างฝ่าย ต่างอ้างชุดข้อมูลเพื่ออ้างอิงเสริมตรรกะของฝ่ายตน แต่จะมีหนึ่งเดียวคือ ความจริงแท้เท่านั้น ที่เป็นข้อมูลที่ประชาชนควรได้รับรู้ ประกอบการพิจารณานับแต่บรรทัดนี้ “วัคซีนโควิด-19 ต่างจากสถานการณ์ปกติทั่วไป ฉะนั้นจะใช้ ความรู้หรือประสบการณ์เดิมไม่เพียงพอ เพราะเป็นการบริหารจัดการในภาวะเร่งด่วน และมีความไม่แน่นอน ดังนั้น สธ.และสถาบันวัคซีนฯ ร่วมกันจัดหาวัคซีนด้วยการ จองล่วงหน้า ได้ใช้ข้อมูลหลายอย่างประกอบกัน ไม่ใช่เพียงแค่การเจรจาซื้อธรรมดา ต้องพิจารณาข้อมูล รูปแบบวัคซีนที่พัฒนาอยู่เป็นอย่างไร มีแนวโน้มว่าจะใช้การได้อย่างไร และจะนำมาใช้ในประเทศไทยอย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่พิจารณาตามชื่อของบริษัทหรือตามตัววัคซีนเพียงอย่างเดียว กรณีบริษัท แอสตราเซเนกา ไม่ใช่จองซื้อทั่วไป แต่มี ข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตกับ ไทยด้วย โดยจะต้องมีผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ใช่ถ่ายทอดโดยทั่วไป คนที่มารับในช่วงเวลาเร่งด่วน ไม่ใช่มาเรียนทำวัคซีนแบบปกติทั่วไป แต่ต้องเป็นคนที่พร้อมและมีความสามารถที่สุด และเขามั่นใจที่สุด โดย แอสตราเซเนกาก็มีการทบทวนคุณสมบัติของบริษัทต่างๆ ในไทย ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าเดียว แต่มีแค่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เท่านั้นที่มีศักยภาพในการรับถ่ายทอดการผลิต ในรูปแบบของไวรัลเวกเตอร์ (Viral vector) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ไม่ว่าจะไปเลือกเอาเอกชนรายใดมาทำก็ได้ แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ของ กระทรวงสาธารณสุขเอง ศักยภาพก็ยังไม่เพียงพอในการ รับถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องมี ความพร้อม คนที่มาสอนก็ไม่เสียเวลามากเกินไป เพราะมีความเร่งด่วน ดังนั้น แอสตราเซเนกาเป็นผู้คัดเลือกบริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเกิดจากเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กับ เครือเอสซีจี ที่เป็นหน่วยงานพัฒนาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง จึงเจรจาดึงให้แอสตราเซเนกา มาประเมินศักยภาพบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ แอสตราเซเนกาเองก็มีความต้องการขยายฐานการผลิตทั่วโลกและต้องการกำลังการผลิตในระดับ 200 ล้านโดสต่อปีขึ้นไป ถึงจะพิจารณา โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จึงเข้าได้กับเกณฑ์ที่แอสตราเซเนกาต้องการ อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยได้ข้อตกลงในลักษณะนี้ มีหลายประเทศอื่น อยากได้เช่นเดียวกับเรา มีผู้พยายามจะเข้ามา แข่งให้แอสตราเซเนกาคัดเลือก แต่ด้วยความพยายามของทีมประเทศไทย เราได้เจรจา แสดงศักยภาพให้เขาเห็น รวมถึงรัฐบาลแสดงความมุ่งมั่นสนับสนุนบริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ จากเดิมผลิตเพียงแค่ชีววัตถุหรือยาที่ใช้ในการเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเท่านั้น ให้สามารถปรับศักยภาพมาผลิตวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ได้ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ 595 ล้านบาท เอสซีจีสนับสนุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อ เครื่องมือ อุปกรณ์ให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ จนแอสตราเซเนกา คัดเลือกเรา ความพยายามของประเทศไทยไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน ต้องมีพื้นฐานอยู่เดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ ทรงวางแนวทางไว้ว่า บริษัทการผลิตยาชีววัตถุ ต้องลงทุนมหาศาล รายได้ผลกำไรแต่ละปีไม่เพียงพอที่จะมาคืนทุนในเวลาอันรวดเร็ว เป็นการขาดทุนเพื่อกำไร ให้ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตยาชีววัตถุ ลดการนำเข้า ที่ผ่านมา เป็นมูลค่ามากกว่าช่วงที่ขาดทุนเสียอีก ประหยัดงบประมาณภาพรวมของงานด้านสาธารณสุข ซึ่งส่วนนี้คนที่ไม่เห็น อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าไปสนับสนุนบริษัทที่มีความขาดทุน แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเป็นไปตามหลักปรัชญาที่ในหลวงพระราชทานไว้ให้เรา”