ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ชัดเจนเสียทีกับประเด็นของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎและกลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล ในการที่กลุ่มของกรรมการสภาคณาจารย์ฯ เรียกร้องและฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครองที่อ้างถึงการดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ตั้งแต่อธิการบดีลงไปต้องเป็นข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัยที่ยังไม่เกษียณอายุเท่านั้น บุคคลภายนอกหรือผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ไม่สามารถจะมาเป็นผู้บริหารได้ ได้ถูกปลดล็อคด้วย ม.44 ของ คสช.ทั้งหมดแล้ว อันที่จริง พรบ.ของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 กลุ่มมิได้กำหนดอายุไว้ เพียงแต่ต้องมีคุณสมบัติบางประการที่เหมาะสมกับการเป็นผู้บริหาร แต่ก็ยังถูกเอา พรบ.ข้าราชการพลเรือนมายึดโยงเกี่ยวข้องด้วย ทั้งๆที่เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยสามารถกำหนดเป็นระเบียบหรือข้อบังคับได้เองอยู่แล้ว ที่สำคัญควรต้องพิจารณาถึงแต่ละสภามหาวิทยาลัยมิได้ปิดกั้นทั้งข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ที่มีความสามารถ มีศักยภาพในการเป็นผู้บริหารแม้แต่แห่งเดียว เพียงแต่ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาจะมีวิสัยทัศน์และแผนพัฒนามหาวิทยาลัย รวมถึงประสบการณ์และศักยภาพเชิงบริหารเหมาะสมเพียงใดเท่านั้น ต้องยอมรับความจริงกันว่ารัฐบาลมุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตและพัฒนากำลังคนไปรองรับกับการขับเคลื่อนประเทศตามความต้องการที่แท้จริง โดยสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจเบ็ดเสร็จ รวมถึงการปลดปล่อยมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพื่อบริหารจัดการด้วยทรัพยากรของตนเองมากกว่าที่จะใช้ทรัพยากรและงบประมาณของรัฐสนับสนุน ซึ่งส่งผลให้มีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับไปเรื่อยๆ เกือบจะ 20 แห่งอยู่แล้ว นอกจากนี้รัฐบาลยังส่งเสริมให้เกิดโครงการการ “ประชารัฐ” ร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อให้สามารถพัฒนาสังคมตามความจำเป็นและตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตอย่างใกล้ชิด การเปิดบ้านให้ผู้มีความสามารถด้านการบริหารมาช่วยบริหารมหาวิทยาลัยจึงเป็นบริบทใหม่ของสังคมไทยและการศึกษาไทย ที่บรรดานักวิชาการศึกษา พึงต้องปรับกระบวนทัศน์และเปลี่ยนแนวคิด (mind set) ในมิติเชิงบวก เพื่อการพัฒนาประเทศ มากกว่าที่จะมีกระบวนทัศน์ดั้งเดิมที่ไม่ปรับเปลี่ยนตามบริบทโลกและบริบทของยุทธศาสตร์ในอนาคต “นักวิชาการ” กับ “นักบริหาร” มีบริบทที่แตกต่างกัน หากได้คนดี คนเก่งทั้งวิชาการและบริหาร เป็นปัจจัยสุดยอดของผู้นำองค์กร แต่หากมีแต่ความ “อยากเป็น” แต่ “ไม่อยากทำ” ก็คงได้แต่งานรูทีน ที่ขาดวิสัยทัศน์การพัฒนาอย่างต่อเนื่องในบริบทของ “dynamic management” ในหลายๆมิติของการบริหารจัดการ อาจจะมีการวิพากย์ ม.44 ที่เป็นมาตรการที่แก้ปัญหาและอาจส่งผลต่อการสืบทอดอำนาจกัน ก็คงคิดได้ทั้ง 2 ทาง แต่คงต้องอยู่ในความรับผิดชอบของสภามหาวิทยาลัยให้เกิดธรรมาภิบาลเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย มากกว่าที่จะแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย มีปัญหาธรรมาภิบาลเกิดขึ้น ส่งผลให้หลายแห่งถูก ม.44 เข้ามาควบคุมการบริหารที่เป็นกันอยู่ การปลดล็อคในครั้งนี้เป็นการมองอนาคตของอุดมศึกษาไทยที่ควรให้อิสระแก่สภามหาวิทยาลัย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้าน ได้ใช้วิจารณญาณ ด้วยการสร้างทิศทางที่ถูกต้องให้มหาวิทยาลัยพัฒนาต่อเนื่องไปสู่เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งหวังสร้างคนไปสร้างชาติ ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนไห้ได้อีก 20 ปีข้างหน้า หากภายในมหาวิทยาลัยยังขัดแย้งกัน เพื่อความ “อยากจะเป็นผู้บริหาร” ไม่ซึมซับกับความก้าวหน้าทางวิชาการและการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาตนเองให้เกิดความเจริญก้าวหน้า แล้วจะเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างไร ทั้งๆที่ใช้ภาษีอากรของประชาชน ชาวมหาวิทยาลัยพึงตระหนักถึงมหาวิทยาลัยเป็นของประชาชน มิใช่เป็นสมบัติของตนเองที่ใครมาแตะต้องไม่ได้ เพราะ ม.44 เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับมหาวิทยาลัยไทย จึงเป็นสัญญาณของรัฐบาลที่มุ่งหวังต่ออุดมศึกษาไทยให้พัฒนาตนเอง