แม้จะประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่กระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่ารอบแรก แต่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่า ขณะที่ความพร้อมด้านสาธารณสุขมีมากขึ้น รวมทั้งแผนรับวัคซีน เริ่มมีความชัดเจน แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท.ยอมรับว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดรอบใหม่นี้ มีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะเติบโตได้ 3.2% น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า การระบาดรอบใหม่นี้ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจากภาระของครัวเรือนที่มีมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงรั้งการบริโภค ดังนั้นจึงถือเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องก่อหนี้เพิ่มหากครัวเรือนนั้นๆมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินหรือสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ ธปท.ยังได้ประเมินผลกระทบจากการใช้มาตรการที่เข้มข้นแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี โดยแบ่งเป็น 3 กรณีดังนี้ กรณีที่ 1 ใช้มาตรการระดับปานกลางในการควบคุมการระบาด ในช่วง 2 เดือน(มกราคม-กุมภาพันธ์) และคุมการระบาดได้ผล จากนั้นเริ่มผ่อนคลายมาตรการลง จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกระทบ GDP 1-1.5% กรณีที่ 2 ใช้ มาตรการระดับเข้มงวดทั่วประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดอย่างรวดเร็ว ในช่วง 1 เดือน(มกราคม) จากนั้นค่อยเริ่มผ่อนคลายมาตรการลงจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระทบ GDP 2-2.5% และกรณีที่ 3 ใช้มาตรการระดับปานกลางไม่ได้ผลใน 1 เดือนแรก (มกราคม) จนต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน 2564 จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรม ทางเศรษฐกิจ และกระทบ GDP 3-4% อย่างไรก็ดีจากทั้ง 3 กรณีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากโควิดในรอบใหม่นี้ ยังไม่รวมปัจจัยเพิ่มเติมที่มีผลต่อการประเมินคือ มาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ,การกระจายวัคซีนและแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป และโอกาสที่โควิดจะกลับมาระบาดรอบใหม่ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับวารสารการเงินธนาคารว่า กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท). ได้มีความเห็นร่วมกันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะสามารถขยายตัวได้ 4% โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 ฟื้นตัวได้มาจากภาคการส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และปัจจัยสำคัญคือ การใช้จ่ายภาคเอกชน โดยรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน ตลอดจนการขยายเวลาชำระภาษีเพื่อให้ประชาชนมีสภาพคล่องในการใช้จ่าย ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าประเทศไทยจะได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ดังนั้น วัคซีนจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ และมีความพร้อมมากขึ้นในการเปิดประเทศเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมาในประเทศ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมองว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้โดยมีแรงส่งที่สำคัญจากการใช้จ่ายภายในประเทศ การส่งออก และการได้รับวัคซีนต้าน COVID-19 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว โดยคาดว่า หากทุกประเทศสามารถเปิดประเทศได้ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 5 ล้านคนจากเดิม 40 ล้านคน” อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังว่า มาตรการต่างๆ จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ หรือมีแนวโน้มที่ดีขึ้นใน 1 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องใช้ยาแรง และหวังว่าปีนี้ไทยจะได้ฉลองเทศกาลสงกรานต์อย่างปลอดโปร่ง